อาเซียนรุมทึ้ง เค้ก 2 แสนล้าน จีนนําเข้าผลไม้

18 ก.ย. 2562 | 09:00 น.

ตลาดผลไม้แดนมังกรร้อนฉ่า อาเซียนเปิดศึกชิงขุมทรัพย์ 2.4 แสนล้าน มาเลย์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ดาหน้ารุมแย่งตลาดไทย เผยสถิติปี 61 จีนยังนำเข้าผลไม้จากไทยมูลค่ามากสุดเป็นอันดับ 1 ตามด้วยสุด ตามด้วยชิลี และเวียดนาม

สถิติจากศุลกากรจีนปี 2561 จีนมีการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศมูลค่า 7,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(หรือประมาณ 2.46 แสนล้านบาท คำนวณจากค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2561 ที่ 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า(ปี2560) 36% โดยมีปริมาณนำเข้ากว่า 5.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 25% ในจำนวนนี้นำเข้าจากเวียดนามมากสุด 1.34 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ ฟิลิปปินส์ 1.17 ล้านตัน ไทย 1.02 ล้านตัน และชิลี 4 แสนตัน โดยผลไม้ที่จีนนำเข้าในปี 2561 ใน 5 อันดับแรกได้แก่ เชอร์รี่ ทุเรียน กล้วย องุ่น และส้ม

อย่างไรก็ดี ในแง่มูลค่าการนำเข้าผลไม้ของจีนในปี 2561 มีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 โดยข้อมูลจาก global trade atlas ในปี 2561 จีนนำเข้าผลไม้จากตลาดโลกกว่า 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 1ตามด้วย ชิลี และเวียดนามเป็นอันดับที่ 3

โดยปี 2561 จีนนำเข้าผลไม้จากไทยมูลค่ากว่า 2.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 23% )  ชิลี 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ส่วนแบ่งตลาด20%) และเวียดนาม 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ส่วนแบ่งตลาด 10%)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์รวมถึงเมียนมา มีการแข่งขันส่งออกผลไม้ไปจีนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลจากความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)อาเซียน-จีนที่เวลานี้ภาษีนำเข้าผลไม้ระหว่างกันได้ลดลงเป็น 0% หลายปีแล้วจากการค้าออนไลน์ในจีนที่ขยายตัว จากนักท่องเที่ยวจีนที่เคยมาไทยและนิยมชมชอบในรสชาติผลไม้ไทย รวมถึงส่วนหนึ่งจากผลพวงสงครามการค้าที่จีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร ซึ่งรวมถึงผลไม้จากสหรัฐฯ 30% ทำให้จีนหันมานำเข้าผลไม้จากอาเซียนมากขึ้น

อาเซียนรุมทึ้ง  เค้ก 2 แสนล้าน  จีนนําเข้าผลไม้

                                            อรมน  ทรัพย์ทวีธรรม

“ผลไม้ไทยและจากประเทศเพื่อนบ้านสามารถเข้าไปทดแทนผลไม้จากสหรัฐฯในตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยต้องเน้นหนักเรื่องคุณภาพมาตรฐาน และด้านสุขอนามัยในการแข่งขัน”

นายพจน์ เทียมตะวัน อดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผัก ผลไม้ไทย เผยว่า จีนมีการนำเข้าผลไม้เพิ่มขึ้นทุกปี ก่อนหน้านี้ปลายทางหลักอยู่ที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ได้ขยายสู่เฉิงตู ฉงชิ่ง และฉางซา และมณฑลอื่นๆ จากเส้นทางคมนาคมทางรถยนต์มีความสะดวกในการขนส่งมากขึ้น ปัจจุบันผลไม้ไทยที่ครองแชมป์ในจีน ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ซึ่งขณะนี้ผลไม้ทั้ง 2 รายการกำลังเผชิญความท้าทาย เมื่อทางการจีนได้อนุญาตให้มีการนำเข้าทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกจากมาเลเซีย(ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 62) ขณะที่เวียดนามและฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างเจรจากับจีนเพื่อขอให้การอนุมัติการนำเข้าทุเรียนสดเช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลล่าสุด (ณ ก.ค. 62) จีนอนุญาตให้นำเข้าผลไม้สดจากไทยแล้ว 22 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะขาม น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ชมพู่ ขนุน ลองกอง สับปะรด ละมุด กล้วย เสาวรส มะพร้าว มะม่วง ลิ้นจี่ ส้มจีน ส้ม และส้มโอ

 

ขณะที่จีนได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สดจากมาเลเซียแล้ว 10 ชนิด ได้แก่ ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ มะพร้าว แตงโม มะละกอ เงาะ สับปะรด ทุเรียน และลูกแพร์สีเหลืองพันธุ์ MD2 (ให้นำเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.62 เป็นต้นไป) และล่าสุดมาเลเซียอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อผลักดันการส่งออกขนุนสดไปจีน ส่วนเวียดนามปัจจุบันจีนได้อนุญาตนำเข้าผลไม้แล้ว 9 ชนิด ได้แก่ แก้วมังกร แตงโม ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง กล้วย เงาะ สับปะรด และมังคุดเป็นรายการล่าสุด(มีผลตั้งแตวันที่่ 27 ส.ค.62)

ขณะข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากรระบุปี 2561 ไทยมีการส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งไปทั่วโลกมูลค่า 8.51 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11% ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดจีนเป็นอันดับ 1 มูลค่า 3.23 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 45% ส่วนช่วง 7 เดือนแรกปี 2562 ส่งออกมูลค่า 6.99 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 44% ในจำนวนนี้ส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 มูลค่า 3.61หมื่นล้านบาท (สัดส่วน 52% ของการส่งออก) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 103% ผลไม้ไทยส่งออกไปจีน 5 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วย สับปะรด

นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันระยะยาวสินค้าผลไม้ของไทยต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าโดยผลิตให้ได้ตามมาตรฐานเกษตรที่ดี(GAP) การจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ และเร่งขึ้นทะเบียนและจัดส่งบัญชีสวนผลไม้และโรงงานบรรจุให้กับศุลกากรจีนและสำนักงานตรวจสอบกักกันโรค (CIQ) เพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่านด่าน 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3506 วันที่ 19-21 กันยายน 2562


อาเซียนรุมทึ้ง  เค้ก 2 แสนล้าน  จีนนําเข้าผลไม้