เตรียมรับ! Sensorization of things

18 ก.ย. 2562 | 12:27 น.

          ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวให้ความเห็นในหัวข้อ “พายุเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ” โดยเน้นย้ำว่า​ โลกไม่เหมือนเดิมไม่ใช่โลกที่เราเคยจินตนาการ จากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่แปรปรวน​ โดยปี​ 2018​ ​มีทั้งข่าวฝนตกหนัก เขื่อนเซเปียนแตก ถัดมาอีก​ 2 เดือนมีข่าวคลื่นยักษ์สึนามิ ต่อด้วยข่าวพายุปาบึก เป็นต้น​ 

          “ธรรมชาติส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า โลกจะไม่เหมือนเดิม ในอดีตนักวิชาการไทยซึ่งไม่เคยมีความเห็นตรงกัน​กลับเห็นตรงกันในเรื่องหนึ่ง คือ แผ่นดินไหวจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย​ แต่สุดท้ายเกิดแผ่นดินไหวที่อำเภอแม่ลาว 

          ดังนี้​ วันนี้ใครที่บอกว่า ดีอยู่แล้ว ไม่เปลี่ยน นั่นคือ แพ้ มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วกับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ล้มไปอย่างไม่มีใครคาดคิด​ นั่นก็คือ บริษัท​ โกดักส์, โนเกีย และ​ โมโตโลร่า ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ใหญ่แค่ไหนก็ไม่รอดถ้าไม่เปลี่ยนแปลง​ แล้วเราเป็นใครจะไม่เปลี่ยนได้อย่างไร จะบอกว่า ใจเย็นๆค่อยเป็นค่อยไป 

          ผมอยากจะบอกว่าเช่นกันว่า ช้าไปเพียงวันละ 1 นาทีก็สู้เขาไม่ได้แล้ว​เพราะวันนี้เป็นยุคทำลายล้าง​ เป็นโลกที่น่ากลัวที่สุดเพราะเราไม่รู้ว่า สู้กับใคร และใคร คือ คู่แข่งของเรา​ เป็นยุคที่โหดร้ายที่สุด​ ​แม้แต่นักเล่นหุ้นมือทอง​ นักกฎหมายยังแพ้เอไอ​ และถ้าเราไม่สู้​ ไม่เปลี่ยน ประเทศไทยไปไม่ได้ 

          เราเข้าสู่ยุคไอด้อนท์แคร์ เราจึงเห็นคนจบวิศวะไปปลูกผัก จบที่หนึ่งบัญชีไปขายของออนไลน์​ วันนี้โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ในเจเนอเรชั่นของเราจะเป็นลูกจ้างเด็กไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม เพราะเด็กรุ่นใหม่่​ เขาเชื่อมโยงกับโลกเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี​ เงินแสนล้านง่ายนิดเดียว

          "โลกยุคดิสรัปชั่น ประสบการณ์ใช้ไม่ได้ พูดไม่ได้ว่า​ เราอาบน้ำร้อนมาก่อน​ วันนี้ 1 คนเปลี่ยนโลกได้โดยไม่ต้องมีใบปริญญา​ ยกตัวอย่างเช่น​ สตีฟ​ จ้อบ​, บิลล์​ เ​กต​ และมาร์ก​ ซักเคอร์เบิร์ก

          "แชมป์โลกไม่เคยนอนหลับ สู้สุดฤทธิ์ และสังคมต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงสุดๆ คนโหยหาการเปลี่ยนแปลง​ รอเพียงคนกล้าเท่านั้น ถ้าไม่ทำก็เหมือนเดิม"   

          อย่างไรก็ดี​ ศ.ดร.สุชัชวีร์​ ตั้งข้อสังเกตว่า​ การจะเปลี่ยนแปลงได้นั้นต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง​ซึ่งเป็นคนที่สำคัญที่สุด​ เช่น​ ตัวเขาเองนั้น​แม้จะเป็นอธิการบดีแต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง​เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มนักศึกษา​ เคยแม้กระทั่งปลอมตัวเป็นนักศึกษาไปร่วมนั่งปฐมนิเทศกับนักศึกษามาแล้ว​ นั่นเป็นเพราะ​มองว่า​ ประเทศไทยต้องลงทุนกับทรัพยากรรุ่นนี้ 

          วันนี้จะสู้กับดิสรัปชั่น จะแข่งกับคนเก่งต้องคบกับคนที่เก่งที่สุด จึงได้จับมือกับมหาวิทยาลัยคาเนกีเมลลอนมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาตั้งในไทย

          ศ.ดร.สุชัชวีร์​ กล่าวว่า​ มีหลายประเทศที่สนใจอยากมาประเทศไทยเพราะคนไทยมีเสน่ห์ มีความจริงใจ แต่ปัญหาของคนไทย คือ การทำงานเป็นทีม ถ้าลดเรื่องนี้ลงได้และเชื่อมั่นกัน เชื่อว่า​ 20 ปีข้างหน้า​ประเทศไทยไม่ต้องกลัวใคร 

          ไม่ว่าจะอาชีพไหน หากไม่รู้เทคโนโลยีไปไม่รอด โลกวันนี้คนเก่งมี 1 ใน​ 100  คนมีความสามารถ 1 ใน​ 1,000​ แต่ทั้งเก่งและมีความสามารถด้วย 1 ในล้าน วันนี้ต้องสอนให้ฉลาดขึ้นด้วยบิ๊กเดต้า 
เชื่อมั่นว่า​ คนไทยชนะได้ถ้ามุ่งมั่น และมีวินัย 

          ยุคนี้ คือ ยุค​ sensorization of things ไล่ล่า​ซึ่งเกิดขึ้นแล้วและคาดการณ์ได้ยาก วันนี้เอไอชนะหมอ เอไอรู้จักเราดีมากกว่าที่เรารู้จักตัวเอง

          สำหรับจุดตายของประเทศไทย คือ ความเป็นเมือง​ เพราะความเป็นเมืองมีอัตราเร่ง ความน่ากลัว คือ การขยายตัวของเมืองอย่างรุนแรงที่เป็นตัวไดร์ฟเทคโนโลยี มนุษย์ได้ยกความฉลาดให้เอไอ​ ซึ่งไม่มีที่เป็นของคนไทยเลย หากเป็นเช่นนี้ประเทศไทยจะกินน้ำใต้ศอกประเทศอื่นเพราะเราไม่มีอะไรเป็นของคนไทยเลย เราจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีการวางแผน มีกลยุทธ์ และมี​ passion ใครก็เปลี่ยนแปลงโลกได้ กูเกิ้ล เฟสบุ๊กส์ ไม่มีใครสนใจเรื่องการศึกษาแต่ดูที่ความมุ่งมั่น 

          ดังนั้น​ ห้ามพูดว่าแก่เกินไปที่จะเรียนรู้ ที่สำคัญห้ามดูถูกองค์กร และประเทศ รวมถึงคนไทยด้วยกันเอง วันนี้โลกไปไกลยิ่งกว่าที่เราคิด​ ถึงเวลาต้องปรับตัว เชื่อว่า​ ถ้าคิดจะสู้ก็สู้ได้เพราะคนไทยเก่ง