นับหนึ่งใหม่ท่อร้อยสายสื่อสาร ปลดล็อกค่าเช่าลงทุนซํ้าซ้อน

22 ก.ย. 2562 | 01:50 น.

 

ในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ส่งหนังสือถึง กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที

เหตุผลเนื่องจากเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal : REP) เพื่อคัดเลือกผู้ใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม โครงการนําสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพ มหานคร ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการใช้การลงทุน และ การสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินหรือกับโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริการโทรคมนาคม

 

สตาร์ตใหม่อีกรอบ

เหตุผลที่โครงการวางท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินต้องมานับหนึ่งใหม่ เนื่องจาก กสทช.เปิดโต๊ะประชุมกับเคที และ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เห็นว่าหนังสือเชิญชวน (REP) มีผลผูกพันกับผู้ใช้ท่อร้อยสาย

นั่นจึงเป็นที่มาทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไม่แสดงความจำนงยื่นข้อเสนอเข้าไปเช่าใช้ท่อร้อยสาย

ผมว่าวิธีนี้น่าจะโปร่งใสและดีที่สุด เพราะเอกชนทุกรายมีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอ ที่เอกชนไม่ยื่นข้อเสนอเพราะครั้งที่แล้วคิดว่าไม่มีสิทธิ์ยื่นนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจ


 

 

‘เคทีรับลูก

หลังจากกสทช.ส่งหนังสือไปทางเคที หรือกรุงเทพธนาคมฯ ก็ออกมารับลูก โดยให้เหตุผลว่า เตรียมส่งหนังสือสอบถามไปยังผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอทราบปริมาณความจุของท่อร้อยสายที่แต่ละรายประสงค์ใช้งาน

เคทีพร้อมจัดทำข้อเสนอ อ้างอิงการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารและเงื่อนไขในเชิงพาณิชย์และเทคนิคที่ชัดเจน เพื่อหารือร่วมกับกสทช.ร่วมกันกำหนดอัตราค่าตอบแทนการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารในอัตราที่เป็นธรรม สมเหตุ สมผล และไม่เลือกปฏิบัติ โดยเปิดให้จัดทำรายละเอียดเสนอเข้ามาภายในระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ เชื่อว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะให้ความร่วมมือในการจัดการสายสื่อสารรกรุงรังที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการของเคทีกล่าว

 

นับหนึ่งใหม่ท่อร้อยสายสื่อสาร  ปลดล็อกค่าเช่าลงทุนซํ้าซ้อน

 

นับหนึ่งใหม่ไม่ง่าย

แม้จะเริ่มต้นโครงการใหม่ให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมเข้ามาเช่าใช้ท่อ แต่ปัญหา คือ อัตราค่าเช่าท่อเป็นประเด็นที่ยังจบไม่ลง

เพราะ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) กำหนดราคา 9,650 บาทต่อ Sub Duct ต่อกิโลเมตรต่อเดือน (1 Sub Duct สามารถรองรับท่อร้อยสายสื่อสารขนาดเล็กได้ 3 Micro Duct)

ส่วน เคที นั้นมีข่าวว่ากำหนดอัตราค่าเช่า 7,000-9,000 บาทต่อ Micro Duct ต่อกิโลเมตรต่อเดือน

เมื่อคำนวณด้วยระยะทาง 2,450 กิโลเมตร ต้นทุนเพิ่มถึง 3 เท่า คิดเป็นเงิน 16.4-21.1 ล้านบาทต่อ Micro Duct ต่อกิโลเมตรต่อเดือน เป็นจำนวนเงิน 196.8-253.2 ล้านบาทต่อ Micro Duct ต่อกิโลเมตรต่อปี มีผลต่อผู้ประกอบการโทรคมนาคมขนาดกลางและเล็ก

ที่สำคัญโครงการนี้ยังคงถูกตั้งคำถาม? อยู่เหมือนเดิมว่าทำไมต้องลงทุนซํ้าซ้อนกับทีโอที ที่วางท่อร้อยสายใน กทม.ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร

ทางออกในเรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยว ข้องต้องเปิดโต๊ะประชุมหาทางออกร่วมกันแบ่งผลประโยชน์ให้ลงตัว

เพื่อแก้ปัญหาอาการป่วยของกรุงเทพมหานครที่มี สายไฟรกรุงรังเกลื่อนกลาดอยู่ในขณะนี้ให้ได้!

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3507 วันที่ 22-25 กันยายน 2562

นับหนึ่งใหม่ท่อร้อยสายสื่อสาร  ปลดล็อกค่าเช่าลงทุนซํ้าซ้อน