เสี่ยงยุบ‘อนาคตใหม่’ หลักฐานมัด ‘ธนาธร’ ปล่อยกู้ 191 ล้าน

21 ก.ย. 2562 | 07:00 น.

 

ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา

กลายเป็นหลักฐานสำคัญมัดตัว นายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรค จนยากที่จะปฏิเสธได้ กรณีปล่อยเงินกู้ให้กับพรรคอนาคตใหม่ กว่า 191 ล้านบาท ซึ่งอาจเข้าข่ายถึงขั้นยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค

หากจำกันได้ นายธนาธร เคยออกปากยอมรับต่อหน้าสื่อมวลชนต่างชาติด้วยตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ บนเวทีบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ เอฟซีซีที ว่า ได้ให้พรรคอนาคตใหม่ยืมเงินจำนวน 110 ล้านบาท ในระหว่างดำเนินกิจกรรมของพรรคช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคไม่สามารถระดมทุนได้ทันเวลา

ตอกยํ้าคำให้สัมภาษณ์ของ นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ว่า พรรคได้กู้ยืมเงินจำนวน 250 ล้านบาท มาจากนายธนาธร โดยการกู้ยืมดังกล่าวนั้น มีการทำสัญญาและคิดดอกเบี้ยชัดเจน

จนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่พรรคการเมืองกู้ยืมเงินนั้นสามารถทำได้หรือไม่ และการที่นายธนาธร ให้ยืมเงินเข้าข่ายเป็นนายทุนพรรคหรือไม่

กระทั่ง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562

 

แจ้งปปช.ให้อนค.กู้191ล้าน

สำหรับครั้งนี้ นายธนาธร เปิดเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรกลายเป็นหลักฐานมัดตัวเองอีกครั้ง โดยได้แจ้งไว้ในรายการเงินให้กู้ยืม ระบุถึงหนังสือสัญญากู้เงินที่พรรคอนาคตใหม่ทำการกู้ยืมจากนายธนาธร รวม 2 สัญญา แบ่งเป็น สัญญากู้เงิน ทำสัญญาลงวันที่ 2 มกราคม 2562 โดยมีนายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค ปฏิบัติหน้าที่ แทนหัวหน้าพรรคเป็นผู้ทำสัญญากู้ มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และนายพุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล ลงชื่อเป็นพยานในการทำสัญญากู้เงิน เป็นการกู้ เงินจำนวน 161,200,000 บาท  โดยพรรคอนาคตใหม่ตกลงจะชำระเงินกู้ ภายใน 3 ปี แบ่งเป็นปีที่ 1 ชำระ 80 ล้านบาท ปีที่ 2 ชำระ 40 ล้านบาท และปีที่ 3 ชำระ 41.2 ล้านบาท

อีกฉบับทำสัญญากู้เงินลงวันที่ 11 เมษายน 2562 โดยมีนายนิติพัฒน์ เหรัญญิกพรรค ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าพรรค เป็นผู้ทำสัญญากู้ มีนายปิยบุตร และ นายพุฒิพงศ์ ลงชื่อเป็นพยานในการทำสัญญากู้เงินเช่นเดียวกับสัญญาฉบับแรก เป็น การกู้เงินจำนวน 30 ล้านบาท โดยพรรคอนาคตใหม่ตกลงจะชำระเงินกู้ภายใน 1 ปี 2 สัญญา วงเงินรวม 191.2 ล้านบาท

นายธนาธร ได้แจ้งต่อป.ป.ช.ด้วยว่า ในสัญญากู้เงินเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 นั้น พรรคอนาคตใหม่ได้ดำเนินการชำระหนี้สินบางส่วนให้แล้ว ส่วนสัญญากู้เงินลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ทางพรรคอนาคตใหม่เพิ่งได้รับเงินกู้จากนายธนาธรจำนวนหนึ่ง คือ 2,700,000 บาท

 

อนาคตใหม่เสี่ยงยุบพรรค

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 62 ให้พรรคการเมืองมีรายได้จาก 7 ทาง คือ 1.เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง 2.เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค การเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ 3.เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง

 

เสี่ยงยุบ‘อนาคตใหม่’  หลักฐานมัด ‘ธนาธร’ ปล่อยกู้ 191 ล้าน

 

4. เงิน ทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรค การเมือง 5. เงิน ทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการบริจาค 6.เงิน อุดหนุนจากกองทุน และดอกผล และ 7.รายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมืองเท่านั้น ไม่สามารถจะมีการสนับสนุนทางอื่น นอกจากที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดได้

จากกรณีที่ นายธนาธร ได้ให้เงินกู้ยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ นั้น มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลใดบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรค การเมือง มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี

วรรคสอง ห้ามไม่ให้พรรค การเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี

การที่พรรคอนาคตใหม่รับเงินจำนวนดังกล่าว มาใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค อาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเกินจำนวนตามมาตรา 66 จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 72 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่ง ในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่า ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อฝ่าฝืนมาตรา 72 เป็นกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 92 (3)

มาตรา 92 บัญญัติว่า เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค การเมืองนั้น

ปัจจุบันคดีการร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากการกู้ยืมเงินนายธนาธร อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน กกต. ซึ่งได้เชิญนายศรีสุวรรณ ผู้ร้อง ไปให้ข้อมูลเพียงครั้งเดียว คือเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 แต่หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาจาก กกต.อีก ทั้งๆ ที่เวลาล่วงเลยมากว่า 4 เดือนแล้ว

คดี “ธนาธร” ปล่อยเงินกู้ให้พรรคอนาคตใหม่ เชื่อกันว่าจะเป็นคดีที่มีนํ้าหนักมากที่สุด ที่สามารถยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ ส่วนคดีจะเดินหน้า “ช้า” หรือ “เร็ว” ต้องรอดูกันไป... 

 

กกต.ถกสัปดาห์หน้า

อนาคตใหม่กู้เงิน‘ธนาธร’

 

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการตรวจสอบกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจการพรรค ว่า สัปดาห์หน้าสำนักงานกกต.จะส่งเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวช่วงหลังการ เลือกตั้ง นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ระบุว่ากฎหมายพรรคการเมือง ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองกู้เงินได้  โดยเมื่อตรวจสอบกฎหมายพรรคการเมืองพบว่า เรื่องเงิน รายได้ และการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง ตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2550 กับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2560 เขียนไว้ต่างกัน

โดยปี 2550 มาตรา 53(7)  ได้กำหนดให้มีรายได้อื่น พรรคจึงอาจมีรายได้จากการกู้ยืมเงินได้ โดยในอดีตที่ผ่านมาก็มีถึง 20 พรรคการเมืองกู้ยืมเงินโดยอาศัยบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ในการหารายได้ และมีการระบุไว้ในรายงานงบดุลประจำปีของพรรคที่รายงานต่อ กกต.

แต่ พ.ร.ป.พรรคการ เมือง ปี 2560  ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มาตรา 62 ไม่ได้มีบทบัญญัติเรื่องรายได้อื่นแล้ว และกำหนดประเภทของรายได้ไว้ 7 ประการ การที่พรรคจะกู้ยืมเงินมาเป็นรายได้ไม่น่าจะทำได้ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3507 หน้า 16 วันที่ 22 - 25 กันยายน 2562

เสี่ยงยุบ‘อนาคตใหม่’  หลักฐานมัด ‘ธนาธร’ ปล่อยกู้ 191 ล้าน