“รัฐบาล”ยังต้องลุ้นต่อ คดีออกพ.ร.ก.ชะลอก.ม.ครอบครัว

22 ก.ย. 2562 | 03:05 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3507 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ย.2562 โดย... ว.เชิงดอย

“รัฐบาล”ยังต้องลุ้นต่อ
คดีออกพ.ร.ก.
ชะลอก.ม.ครอบครัว


          ....“โล่งอก” ไปแล้วพร้อมกันทั้ง 2 เรื่องในวันเดียวกัน สำหรับ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯและรมว.กลาโหม เรื่องแรกผ่านพ้นศึกอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ซึ่งฝ่ายค้านพุ่งเป้าถล่มหนักประเด็นการนำ ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และอีกเรื่องคือการแถลงนโยบายรัฐบาลโดยไม่บอกแหล่งที่มาของรายได้ บทสรุปที่ได้จากการอภิปรายของฝ่ายค้านคือ เรียกร้องให้นายกฯ “ลาออก” จากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ขณะที่ “บิ๊กตู่” ถือบทนิ่ง ไม่ต่อความยาวสาวความยืด ชี้แจงเฉพาะประเด็นการแถลงนโยบายรัฐบาลโดยไม่บอกแหล่งที่มาของรายได้ โดยไม่ชี้แจงปมถวายสัตย์

          ....“ขอบคุณสมาชิกทุกคน จะเห็นได้ว่าผมยิ้มให้กับทุกคน วันนี้จะเห็นได้ว่าผมดุเดือดน้อยกว่าเก่าเยอะ และผมรักทุกคน เพราะทุกคนคือคนไทยของประเทศไทยนี้ ทุกคนไม่ใช่คนประเทศอื่นที่จะมาเอาเป็นเอาตายกันหรืออย่างไร ไม่เช่นนั้นประเทศจะอยู่ไหน และขอจบคำชี้แจงเพียงเท่านี้” คำชี้แจงทิ้งท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสภาฯ สมัยสามัญครั้งที่ 1 ก่อนที่จะมีการเปิดสภาฯ สมัยสามัญครั้งที่ 2 ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2562

          ....เรื่องที่ 2 ที่สร้างความสบายใจให้กับ “บิ๊กตู่” และได้หายข้องใจกันเสียทีคือ กรณี ส.ส.ฝ่ายค้าน 110 คน ได้เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว กรณีเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่ ซึ่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผลมาจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่ง “รัฏฐาธิปัตย์” ซึ่งเป็นอำนาจในการปกครองประเทศ หัวหน้า คสช.ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐใด และเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มา หรือการเข้าสู่ตำแหน่ง โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชน ตำแหน่งหัวหน้า คสช.จึงไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และมิใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

          ....แม้จะผ่านพ้นไปแล้ว 2 เรื่อง แต่ “รัฐบาลประยุทธ์” ยังมีเรื่องที่ต้องรอให้ลุ้นกันอยู่อีก 1 คดีที่ยังอยู่ใน “ศาลรัฐธรรมนูญ” นั่นคือ กรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน 142 คน ยื่นร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 ว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา... คดีนี้ “ฝ่ายค้าน” มองว่าการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่เข้า 4 เงื่อนไข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดไว้ 1.เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ 2.ความปลอดภัยสาธารณะ 3.ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และ 4.การปัดป้องภัยพิบัติสาธารณะ แต่การอ้างของรัฐบาลเรื่องความไม่พร้อมในการจัดตั้งหน่วยงานและบุคลากร ไม่จำเป็นถึงขั้นต้องออกเป็นพ.ร.ก.แต่อย่างใด ... “วิบากกรรม” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีให้ลุ้นกันอยู่ตลอดเวลา...