ปตท.ดิ้นบริหารคลังแอลพีจี หลังลงทุนเกินความจำเป็น 2 หมื่นล้าน

05 เม.ย. 2559 | 05:00 น.
นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติด้านพลังงาน จากที่เคยเป็นผู้ส่งออกก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจีไปในตลาดโลก กลับต้องเป็นผู้นำเข้าตั้งแต่นั้นมา ด้วยเหตุของราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดภาระค่าครองชีพ เพราะมีราคาถูกกว่าน้ำมันค่อนข้างมาก ทำให้ธุรกิจติดตั้งถังแอลพีจีร่ำรวยกันเป็นแถว และผลที่ตามมาทำให้ประเทศต้องนำเข้าแอลพีจีเคยสูงสุดถึง 2.1 แสนตันต่อเดือน หรือเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1.4-1.5 แสนตันต่อเดือนเรื่อยมา

ผลของปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เอง ทำให้รัฐบาลสมัยนั้น คิดหนัก หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวลดลง จะส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่งเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนคลังก๊าซที่เขาบ่อยา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ไม่สามารถรองรับการนำเข้าได้ เนื่องจากความสามารถรองรับได้เพียง 1.3 แสนตันต่อเดือนเท่านั้น หากเกินกว่านี้จะต้องเช่าเรือมาลอยลำเสียค่าบริหารจัดการค่อนข้างสูงมาก

[caption id="attachment_42596" align="aligncenter" width="500"] ก๊าซแอลพีจี ก๊าซแอลพีจี[/caption]

 กพช.คาดการณ์ผิดพลาด

ในที่สุดคณะคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เมื่อ วันที่ 27 เมษายน 2554 จึงตัดสินใจ อนุมัติให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ไปดำเนินการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถการนำเข้า การจ่าย และระบบขนส่งก๊าซแอลพีจีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อไม่ให้การใช้แอลพีจีในประเทศต้องประสบกับปัญหาขาดแคลน

โดยให้ปตท.ไปเร่งขยายระบบคลัง ท่าเรือนำเข้า และระบบคลังจ่ายก๊าซ ที่เขาบ่อยา จากเดิมที่รับได้ 1.3 แสนตันต่อเดือน เพิ่มเป็น 2.5 แสนตันต่อเดือน รวมถึงการขยายระบบคลังจ่ายก๊าซบ้านโรงโป๊ะ ขยายระบบคลังภูมิภาค และขยายระบบขนส่งก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซ ไปคลังจ่ายก๊าซบ้านโรงโป๊ะและคลังก๊าซเขาบ่อยา ด้วยงบการลงทุน 2.09 หมื่นล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2559 นี้

แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทางกระทรวงพลังงานมีนโยบายลอยตัวราคาแอลพีจีจากที่เคยควบคุมไว้ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือราว 18.31 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาแอลพีจีสะท้อนราคาในตลาดโลกมากขึ้น ทำให้ราคาแอลพีจีขยับขึ้นมาอยู่ที่ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง ที่ก่อนหน้านั้นเคยอยู่ในระดับ 1.6 แสนตันต่อเดือน ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องเช่นกันจนมาอยู่ที่ระดับ 1.24 แสนตันต่อเดือน จากปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมดของทุกภาคส่วน 3.42 แสนตันต่อเดือน(ไม่รวมปิโตรเคมี)จึงได้ส่งผลให้ปัจจุบันยอดการนำเข้าแอลพีจีลดลงมาอยู่ในระดับ 3-4 หมื่นตันต่อเดือนเท่านั้นรวมถึงปัญหาการลักลอบส่งแอลพีจีไปยังเพื่อนบ้านลดลงด้วย

 ลงทุน 2 หมื่นล.สูญเปล่า

ถึงเวลานี้ จึงมีคำถามตามมาว่า การที่รัฐบาลในสมัยนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ ปตท.ลงทุนขยายคลังและท่าเรือดังกล่าวด้วยงบลงกว่า 2 หมื่นล้านบาทนั้น มีความคุ้มค่ากับเงินที่ได้ลงทุนไปหรือไม่! เพราะความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าแอลพีจีราว 2.5 แสนตันต่อเดือนนั้นไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป และอาจจะไม่ได้ใช้งานเต็มศักยภาพตามที่ออกแบบไว้ หรืออย่างน้อยคงไม่ต่ำกว่า 5 ปี เพราะเท่าที่รับฟังข้อมูลสถานการณ์น้ำมันดิบในตลาดโลกจากนายเทวินทร์ วงษ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) คาดการณ์ไว้โอกาสที่ราคาน้ำมันจะพุ่งไปแต่ที่จะดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเหมือนสมัยก่อน และทำให้ผู้บริโภคหันกลับมาใช้ก๊าซแอลพีเพิ่มขึ้นอีก คงเป็นเรื่องยาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องหันมามองว่า แล้วปตท.จะบริหารจัดการคลังก๊าซและท่าเรือที่ลงทุนขยายการรับก๊าซแอลพีจีนำเข้านี้ให้เกิดความคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปนี้อย่างไร

 รัฐเปิดนำเข้าแอลพีจีเสรีช่วย

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ชี้ให้เห็นว่า การที่กระทรวงพลังงานมีโรดแมปปล่อยเสรีการนำเข้าก๊าซแอลพีจี น่าจะเป็นทางออกได้ระดับหนึ่ง ที่ได้กำหนดการดำเนินงานไว้ ได้แก่ ระยะแรก ยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการให้ผู้ค้าก๊าซรายอื่นนำเข้า เช่น การจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าที่ล่าช้า ความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการนำเข้า และมาตรการชดเชยค่าขนส่งไปยังคลังภูมิภาค ซึ่งในส่วนนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 ที่จะเปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้า ด้วยราคานำเข้าที่ CP+85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ระยะที่ 3 เปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้า ด้วยราคานำเข้าที่ CP+X ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และระยะที่ 4 เปิดการประมูลการนำเข้าก๊าซแอลพีจี ดังนั้น เมื่อมีผู้นำเข้ามากกว่าหนึ่งรายและระบบธุรกิจพร้อมต่อการแข่งขันแล้ว ในระยะต่อไปจะเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีในลักษณะเดียวกันกับธุรกิจน้ำมัน

จากนโยบายการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซแอลพีจีนี้เอง จะเปิดช่องให้มีผู้ค้าก๊าซแอลพีจีรายใหม่ เข้ามานำเข้าเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันมีปตท.ผูกขาดเพียงรายเดียวซึ่งจะทำให้ผู้ค้าก๊าซตามมาตรา 7 ที่มีอยู่กว่า 10 ราย สามารถนำเข้าก๊าซแอลพีจี ผ่านการใช้บริการคลังและท่าเรือของปตท.ได้ และมีการคิดค่าบริการเช่าคลังและการใช้บริการท่าเรือ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพลังงาน คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ได้ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

 ปตท.นำเข้าส่งออกเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ ปตท.ยังมีแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้คลังแอลพีจีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยขณะนี้ได้ทำหนังสือส่งไปยังกรมธุรกิจพลังงานเพื่อแสดงความจำนงในการนำเข้าแอลพีจี เพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากปัจจุบัน อาทิ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ยังต้องนำเข้าจากตะวันออกกลาง และบางส่วนมีการลักลอบส่งออกไปจากประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำรายระเบียบการเปิดประมูลโควตาการนำเข้าอยู่ คาดว่าจะทราบผลไม่เกิน 2 เดือนนี้

รวมถึงการมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนตั้งโรงบรรจุก๊าซหุงต้ม ในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการรองรับการนำเข้าแอลพีจี และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบริหารจัดการคลังก๊าซเขาบ่อยาให้มีผลตอบแทนคืนมาได้บ้าง เพราะในอนาคตอันใกล้ ยังไม่ทราบว่าจะมีผู้ค้ามาตร 7 รายใดบ้างที่จะนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี หลังจากที่ผ่านมาทางกรมธุรกิจพลังงาน ได้ทดลองให้โควตาการนำเข้ากับทางบริษัท พีเอพี แก๊ส แอนด์ ออยล์ฯ นำเข้าในปริมาณ 2 พันตัน เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการบริหารคลังเขาบ่อยาเช่นกัน

ดังนั้น การจะบริหารคลังและท่าเรือดังกล่าว คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ขึ้นอยู่กับว่าทางกระทรวงพลังงาน จะมีการออกกฎกติกา ไว้สำหรับผู้ที่ขอโควตาการนำเข้าไปแล้ว แต่ไม่สามารถจัดหาหรือนำเข้ามาได้ ก็ควรจะมีบทลงโทษที่เข้มงวด เพราะถือเป็นความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศทางหนึ่ง เพราะหากจัดสรรโควตาไปแล้ว ไม่สามารถนำเข้าได้ ก็อาจจะมีผลให้ประเทศเกิดขาดแคลนก๊าซแอลพีจีขึ้นมาได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559