วันนี้ (วันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2559) เวลา 10.30 น. นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานในการประชุมชี้แจงโครงการ “ระบบการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-Arrival Processing System)” โดยได้เชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สภาหอการค้า และสมาคมต่างๆ เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นในการดำเนินการตามโครงการฯ ณ ห้องประชุมภาสกรวงศ์ อาคาร 1 กรมศุลกากร คลองเตย
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรได้จัดทำโครงการระบบการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-arrival Processing System) นำร่อง ณ ท่าเทียบเรือ A3 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นการปล่อยสินค้าจากข้อมูลบัญชีสินค้า (e-Manifest) ที่ส่งเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนที่สินค้าจะมาถึงราชอาณาจักร โดยกระบวนงานจะกำหนดให้ผู้ประกอบการสายเรือจัดส่งข้อมูล e-Manifest ล่วงหน้าอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเรือเข้าจริง จากนั้นระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร (System Profile Risk Management) จะทำการบริหารความเสี่ยงจากข้อมูล e-Manifest และตอบกลับผลการติดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการสายเรือและผู้ประกอบการท่าเรือ เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการตู้สินค้าก่อนที่สินค้าจะมาถึงราชอาณาจักร และเมื่อเรือมาถึงราชอาณาจักร หากเป็นสินค้าที่ไม่ติดเงื่อนไขความเสี่ยง ผู้ประกอบการสามารถจัดทำใบขนสินค้า ติดต่อแลก D/O และรับของหรือลากตู้ออกจากท่าเรือได้ทันที แต่หากสินค้าติดเงื่อนไขความเสี่ยง เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะตรวจสอบของก่อนที่ผู้ประกอบการจะรับของออกจากท่าเรือ ซึ่งระบบ Pre-Arrival Processing เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก ช่วยให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสามารถจัดการพื้นที่สำหรับตู้สินค้าได้ล่วงหน้า จึงสามารถประกันเวลา ลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการ อีกทั้งเป็นการลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง ลดปัญหาคอรัปชั่น ทำให้มีการจัดเก็บภาษีอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
กรมศุลกากรมีความเชื่อมั่นว่าการนำระบบการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-arrival Processing System) มาใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้า จะสามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการประเมินการวัดระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า (Time Release Study: TRS) และการจัดอันดับ Ease of doing business ของประเทศไทย นอกจากนี้กรมศุลกากรยังมีแผนต่อเนื่องในการจัดทำแนวทางขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัล (Digital Trade Facilitation Strategy) โดยจะทำการพัฒนาระบบรับชำระเงินผ่าน e-Payment (e-Payment Gateway) และการเชื่อมโยงข้อมูลทางการค้าจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน (Document Compliance) ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถบูรณาการและใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วจากกรมศุลกากร