จับตาประเด็นเศรษฐกิจเวทีหาเสียง ศึกตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ตอน1)

29 เม.ย. 2559 | 00:00 น.
การหาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันและเดโมแครตเพื่อไปสู่เวทีการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้นโดยฟากพรรครีพับลิกันมีนายโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีฝีปากกล้าเป็นตัวเก็ง ขณะที่ฝั่งเดโมแครตมีนางฮิลลารี คลิน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 เป็นตัวเก็ง แม้เศรษฐกิจของสหรัฐฯจะมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในเวลานี้และมีการขยายตัวต่อเนื่องนานที่สุดและภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็มีตัวเลขการจ้างงานใหม่หลายแสนตำแหน่ง แต่ประเด็นเศรษฐกิจและการค้าก็ยังคงเป็นหัวข้อร้อนแรงที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งของสหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และการทะลักเข้ามาของสินค้านำเข้าราคาถูกกว่าอันเป็นผลพวงมาจากข้อตกลงการค้าเสรีที่สหรัฐฯไปทำไว้กับประเทศคู่ค้าทั่วโลก

ความเดือดดาลของชาวอเมริกันเกี่ยวกับการค้าที่ขาดดุลมีส่วนช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีตัวเก็งจากพรรครีพับลิกัน และทำให้นางฮิลลารี คลินตัน ตัวเก็งจากพรรคเดโมแครตต้องหันมาเพิ่มน้ำหนักให้กับนโยบายการค้ามากขึ้นในทุกเวทีหาเสียง จากการสำรวจพบว่าชาวอเมริกันจำนวนมากยังไม่คุ้ยเคยหรือแม้กระทั่งไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีทีพีพี (ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค) ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มและเป็นแกนนำ แต่พวกเขาก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจปากท้องในชีวิตประจำวันและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหรือชุมชน เช่น การปิดโรงงานและการสูญเสียตำแหน่งงาน เป็นต้น

ยกตัวอย่าง นายฟิลลิส อาเธอร์ วัย 74 ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน จากเมืองวอลนัต ครีก รัฐแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ตอนที่สหรัฐฯทำข้อตกลงการค้าเสรีครั้งใหญ่กับแคนาดาและเม็กซิโก (นาฟต้า) เขามองว่ามันเป็นแนวคิดที่ดี แต่ตอนนี้เขาไม่ได้คิดอย่างนั้นอีกแล้ว "ผมว่าเรากำลังถูกถล่มด้วยสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ จะว่าไปมันคือทุกสิ่งอย่างที่อยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตของเราในตอนนี้" ด้านนายเควิน ไวท์ วัย 47 ผู้ให้การสนับสนุนพรรคเดโมแครต จากเมืองเดย์ตั้น รัฐโอไฮโอ ให้ความเห็นว่า ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ คนอเมริกันหางานทำได้ยากขึ้น เขาเองเคยทำงานโรงพยาบาล ตอนนี้กลายเป็นคนตกงานต้องรับสวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐ "การจ้างงานมันไปอยู่ในต่างประเทศหมดแล้ว ทำให้เรามีปัญหาการผ่อนบ้าน รายได้ครัวเรือนไม่พอใช้แล้ว"

ด้านนายดักลาส เออร์วิน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ดาร์ทเมาธ์ เปิดเผยว่า ผลกระทบที่เกิดจากการแผ่อิทธิพลของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในสังคมสหรัฐฯในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น ระหว่างปี 2543-2554 สินค้านำเข้าจากจีนมายังสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นจนมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 2.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากที่เคยมีสัดส่วนเพียง 1% ของจีดีพี "มันเป็นข้อมูลที่น่าตกใจมากกว่าการเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 หรือการเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกในช่วงทศวรรษ 1990 นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้มองว่า เศรษฐกิจจีนที่ฟูเฟื่องซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนเกินความเป็นจริงทำให้สินค้าจีนออกบุกตลาดโลกได้ในราคาที่ได้เปรียบสินค้าคู่แข่ง มีผลทำงานชาวอเมริกันจำนวนกว่า 5 ล้านคนต้องตกงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต แต่ปัญหาดังกล่าวไม่ส่งผลมากนักในช่วงที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯฟูเฟื่องเนื่องจากมีการสร้างงานในด้านการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในระยะต่อมาไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมก่อสร้างของสหรัฐฯอ่อนแรงลง เพิ่งจะมาฟื้นตัวในระยะเร็วๆนี้ ที่ตัวเลขจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 6 ตำแหน่งในช่วง 5 ปีหลัง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559