จีดีพีQ1เกาหลีใต้ชะลอตัว ผลกระทบส่งออกอ่อนแอ

30 เม.ย. 2559 | 13:00 น.
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาสแรกของปีเติบโตต่ำสุดในรอบ 3 ไตรมาส หลังการส่งออกที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ ขณะที่ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง

ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเกาหลีใต้ในไตรมาสแรกของปี 2559 เพิ่มขึ้น 0.4% จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีก่อน เมื่อจีดีพีขยายตัวได้ 0.4% จากผลของการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์ส ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน จีดีพีในไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวได้ 2.7%

ทั้งนี้ หลังจากเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เติบโตได้ต่ำสุด 0.3% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 การเติบโตกลับมาเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 1.2% ในไตรมาส 3 ของปีก่อน ก่อนจะปรับลดลงอีกครั้งเป็น 0.7% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา
เศรษฐกิจของเกาหลีใต้เติบโตได้อย่างชะลอตัวแม้ว่ารัฐบาลพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้นโยบายทางการคลังเพิ่มการใช้จ่าย และนำการลดหย่อนภาษีรถยนต์สำหรับผู้บริโภคกลับมาใช้อีกครั้ง เมื่อสัปดาห์ก่อนธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2559 ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 3.0% โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนแรกของปีมีความอ่อนแอ อย่างไรก็ดี นายลี จู-ยอล ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้กล่าวว่า เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ได้ในไตรมาสปัจจุบัน

ด้านรัฐบาลเกาหลีใต้คาดการณ์การเติบโตไว้เกินกว่า 3% ในปีนี้ แต่สถาบันด้านเศรษฐศาสตร์ของเอกชน อย่างสถาบันวิจัยแอลจี อีโคโนมิก คาดการณ์การเติบโตเพียง 2.4% ขณะที่สถาบันวิจัยฮุนไดและสถาบันการเงินแห่งเกาหลีใต้ต่างปรับลดคาดการณ์ในปีนี้ลงเหลือ 2.5% และ 2.6% ตามลำดับ

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของเกาหลีใต้ในช่วงต้นปีเป็นผลจากการส่งออกที่ปรับตัวลดลงท่ามกลางความต้องการจากต่างประเทศที่อ่อนแอลง ขณะที่การบริโภคภายในประเทศก็อ่อนแอลงเช่นเดียวกันการบริโภคภายในประเทศในไตรมาสแรกลดลง 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการสินค้าคงทนและกึ่งคงทนลดลง นับเป็นการปรับลดลงจาก 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนที่เพิ่มขึ้น 1.1% และ 1.4% ตามลำดับ

การลงทุนด้านการก่อสร้างขยายตัว 5.9% หลังจากลดลง 2.4% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 จากอานิสงส์ของการก่อสร้างอาคารสถานที่และงานด้านวิศวกรรมโยธาที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนด้านโรงงานลดลง 5.9% เนื่องจากความต้องการที่อ่อนแอลงของเครื่องจักรและอุปกรณ์ด้านคมนาคม ซึ่งธนาคารกลางเกาหลีใต้กล่าวว่า การลงทุนที่ลดลงอาจส่งผลต่อภาคการผลิตในอนาคต

ขณะเดียวกัน การส่งออกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ หดตัว 1.7% ในช่วงไตรมาสแรกของปีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับน้ำมันดิบและรถยนต์ชะลอตัวลง ทั้งนี้ การส่งออกของเกาหลีใต้หดตัวเป็นระยะเวลา 15 เดือนติดต่อกันแล้ว และมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องอีกในเดือนนี้ ส่วนการนำเข้าลดลง 3.5% จากผลของราคาน้ำมันดิบที่ถูกลง ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 1.3%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559