จับตาบีโอเจผ่อนคลายเพิ่มเติม กังวลเงินเยนแข็งค่ากระทบภาคธุรกิจและราคาสินค้า

29 เม.ย. 2559 | 10:00 น.
ธนาคารกลางญี่ปุ่นเผชิญกับแรงกดดันให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุมสัปดาห์นี้ หลังจากค่าเงินเยนที่แข็งค่าต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจของประเทศ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ ในวันที่ 27-28 เมษายนนี้ มีความคาดหมายเพิ่มขึ้นจากนักวิเคราะห์ถึงโอกาสที่บีโอเจจะตัดสินใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาเพิ่มเติมเพื่อตอบโต้กับการแข็งค่าของเงินเยน และผลกระทบที่มีต่อเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% หลังจากบีโอเจเพิ่งประกาศมาตรการดอกเบี้ยติดลบออกมาเมื่อปลายเดือนมกราคม

นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ กล่าวแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ของเงินเยนในการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่แหล่งข่าวภายในบีโอเจกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทางการหลายรายมีความกังวลต่อเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ในปีนี้เงินเยนแข็งค่าขึ้นจากระดับประมาณ 120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ประมาณ 111 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวลานี้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และกดดันราคาสินค้านำเข้า ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังภาวะเงินเฟ้อของประเทศที่รัฐบาลญี่ปุ่นและบีโอเจพยายามผลักดันให้กลับขึ้นมาถึง 2% ให้ได้

การสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์โดยบลูมเบิร์กเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่ามีนักเศรษฐศาสตร์ 23 จาก 41 รายที่คาดหมายว่าจะบีโอเจจะประกาศมาตรการออกมาเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ แต่ยังมีความเห็นแตกต่างกันไปถึงขนาดของนโยบายที่จะประกาศออกมา

นักวิเคราะห์จากยูเอสบีระบุในรายงานว่า คาดหมายการผ่อนคลายนโยบายครั้งใหญ่จากบีโอเจในสัปดาห์นี้ "สถานการณ์ในขณะนี้อยู่ในภาวะที่บีโอเจไม่สามารถรออยู่เฉยๆ ได้ ถ้าต้องการรักษาเป้าหมายการทำเงินเฟ้อให้ได้ถึง 2% ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมาก บรรยากาศในภาคการผลิตจากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการอ่อนแอลงอย่างมาก และแนวโน้มเงินเฟ้อลดต่ำลง"

สื่อต่างชาติวิเคราะห์ว่า ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการประชุมกลางสัปดาห์อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของนายคุโรดะ โดยแม้ว่านักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดว่าเฟดจะไม่มีการปรับนโยบายใดๆ ในการประชุมสัปดาห์นี้ แต่หากมีการส่งสัญญาณถึงโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะช่วยส่งค่าเงินเยนให้อ่อนตัวลง ลดแรงกดดันต่อบีโอเจที่จะต้องผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมในทันที

อย่างไรก็ตาม ถ้าบีโอเจตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ บีโอเจมีทางเลือกหลักๆ อยู่ 3 ทาง ได้แก่ การปรับลดดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบเพิ่มจากเดิม ขยายขนาดการซื้อสินทรัพย์จาก 80 ล้านล้านเยนต่อปีในปัจจุบัน หรือขยายช่องทางการนำดอกเบี้ยติดลบไปใช้

ยูเอสบีคาดหมายว่าจะมีการปรับนโยบายทั้ง 3 ส่วน โดยเพิ่มการซื้อสินทรัพย์อีก 20 ล้านล้านเยน ลดดอกเบี้ยเป็น -0.3% และขยายดอกเบี้ยติดลบไปสู่กลไกการปล่อยสินเชื่อของบีโอเจ ขณะที่นักวิเคราะห์จากเครดิตสวิส คาดการณ์ว่า บีโอเจจะปรับลดดอกเบี้ยจาก -0.1% เป็น -0.2% และลดดอกเบี้ยที่บีโอเจปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์เป็น -0.2%

ด้านนายมาซาอากิ คันโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเจพี มอร์แกน ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า "เราคิดว่าอาจจะมีการปรับเงื่อนไขนโยบายเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่การปรับครั้งใหญ่ เช่น มูลค่าการซื้อสินทรัพย์" ทั้งนี้ คันโนะเชื่อว่าบีโอเจจะยังไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจนกว่าจะถึงเดือนกรกฎาคม โดยเหตุผลส่วนหนึ่งเชื่อว่าบีโอเจยังคงเชื่อมั่นกับประสิทธิภาพของนโยบายดอกเบี้ยติดลบ

นอกจากนี้ บีโอเจอาจจะตัดสินใจชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากต่างชาติว่าญี่ปุ่นพยายามใช้สงครามค่าเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก่อนที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 7 ในเดือนพฤษภาคม "บรรยากาศของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างยากลำบากในเวลานี้" นายคิอิจิ มูราชิมะ นักวิเคราะห์จากซิตีกรุ๊ปให้ความเห็น พร้อมคาดหมายว่าบีโอเจจะไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาในสัปดาห์นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559