จีดีพีมะกันไตรมาสแรกโต0.5% แต่ปัจจัยเสี่ยงมีแนวโน้มลดลง

04 พ.ค. 2559 | 13:00 น.
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเติบโตในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 จากผลของการใช้จ่ายผู้บริโภคอ่อนแอ และค่าเงินดอลลาร์ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออก

กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2559 เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อคิดเป็นอัตราการเติบโตตลอดทั้งปี นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2557 โดยการเติบโตอ่อนแอลงในเกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ยกเว้นภาคอสังหาริมทรัพย์

ความพยายามของภาคธุรกิจในการลดจำนวนสินค้าคงคลังส่งผลกระทบต่อการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ราคาน้ำมันตกต่ำกดดันกำไรของบริษัทน้ำมัน และทำให้การใช้จ่ายของภาคธุรกิจลดลงในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 หลังสิ้นสุดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์กล่าวว่า อัตราการเติบโตในระดับต่ำในไตรมาสแรกไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังทรุดลงอีกครั้ง "ปัจจัยชะลอการเติบโตบางส่วนกำลังหายไป และเศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้รวดเร็วขึ้นในช่วงต่อจากนี้" โจเอล นารอฟฟ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากนารอฟฟ์ อีโคโนมิกส์ แอดไวเซอร์ส ให้ความเห็น

สถานการณ์ของอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และปัญหาสินค้าส่วนเกินในสต๊อกคลี่คลายลงไปแล้ว อีกทั้งตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนการจ้างงานเฉลี่ย 209,000 ตำแหน่งต่อเดือนในช่วง 3 เดือนแรกของปี อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างตลาดแรงงานและการเติบโตของจีดีพีแสดงให้เห็นว่า ผลิตภาพยังคงอ่อนแอ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวยอมรับว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปีชะลอตัวลง แต่ขณะเดียวกันตลาดแรงงานมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินภายนอกประเทศเริ่มมีลดน้อยลงในสายตาของเฟด ทั้งนี้ เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมในการประชุมเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ พร้อมกับส่งสัญญาณว่ายังไม่รีบร้อนในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม หลังจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับใกล้เคียง 0% ที่คงไว้ตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน

การใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้ 1.9% ในช่วงไตรมาสแรก เป็นการเติบโตที่อ่อนแอที่สุดในรอบหนึ่งปี และลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนที่เติบโตได้ 2.4%

ผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงประหยัดการใช้จ่าย ด้วยการลดการจับจ่ายซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ แม้ว่าราคาน้ำมันจะถูกลง และเลือกออมเงินเก็บที่มีเพิ่มมากขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันที่ถูกลง พร้อมกับลดภาระหนี้สินของตนเอง โดยรายได้สำหรับใช้จ่ายของภาคครัวเรือนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.9% ในไตรมาสแรก หลังจากเพิ่มขึ้น 2.3% ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ขณะที่เงินออมเพิ่มขึ้นจาก 6.783 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 7.123 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

"การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะฟื้นตัวในไตรมาส 2 จากปัจจัยรายได้ที่เพิ่มขึ้นและราคาพลังงานที่ลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่อาจเข้ามาช่วยลดทอนผลกระทบจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอที่หลายๆ คนมองข้ามไป" เควิน คัมมินส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารอาร์บีเอส กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559