อัยการโยนสำนักงานปราบปรามทุจริตฟันธง รับ-เลิกโครงการฉาว 'ข้าราชการไทยไร้ทุจริต'

13 พ.ค. 2559 | 01:00 น.
จากกรณีที่ศูนย์บริการวิชาการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ยื่นฟ้องคดีต่ออัยการสูงสุด (อสส.) ให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรณี มศว.รับงานจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีตกลงกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) โครงการข้าราชการไทยไร้ทุจริตวงเงิน 19,250,000 บาท ไปแล้ว แต่ไม่ได้รับค่าจ้างและสำนักงาน ป.ป.ท.ไม่แจ้งความคืบหน้าใดๆ

รายงานข่าวจาก อสส. เปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายมาพบพนักงานอัยการเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงตามหมายเรียกแล้ว และอัยการบันทึกถ้อยคำไว้ 3 ข้อ คือ 1.ให้สำนักงาน ป.ป.ท.สรุปข้อเท็จจริงในการตรวจรับงานตามสัญญา ถ้าเห็นว่า มศว.สามารถแก้ไขงานได้ให้แจ้งเป็นหนังสือดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย 2.ถ้าสำนักงาน ป.ป.ท. เห็นว่า ควรเลิกสัญญา เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขงานตามที่เสนอให้แก้ไข และ3.ถ้ามีข้อสงสัยในการตีความบอกเลิกสัญญา หรือในกรณีตรวจรับงาน ควรเสนอฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน ป.ป.ท. ให้ความเห็นในข้อกฎหมายดังกล่าวได้

ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ท. ตั้งข้อสังเกตกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า โครงการนี้มีปัญหา เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการจ้างที่ปรึกษาโดยสำนักคุ้มครองและป้องกัน (สคป.) ใน ป.ป.ท. ซึ่งเป็นประธานจ้างที่ปรึกษามีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับผู้รับจ้าง เรื่องการจัดทำแผนการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ในชั้นการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค ในการดำเนินการจริงที่ปรึกษากลับทำหน้าที่เป็นเพียงผู้จัดงาน ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการจ้างที่ปรึกษาอันเป็นสถาบันการศึกษาที่ต้องได้ผลงานวิชาการอย่างสมบูรณ์ ในหลายกิจกรรมที่ปรึกษาก็จัดแบบลดต้นทุนลงต่ำกว่าครึ่ง ไม่เหมาะสมกับสภาพของงาน

เมื่อเข้าสู่การดำเนินงานตามงวดงานก็พบปัญหา อาทิ งวดที่ 2 ซึ่งมีงานที่สำคัญ เช่น การอบรมให้ความรู้ให้กับวิทยากรตัวคูณจำนวนไม่น้อยกว่า 250 หน่วยงาน รวมแล้วไม่น้อยกว่า 500 คน การอบรมเครือข่ายภาครัฐต่อต้านการทุจริตให้แก่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ หน่วยงานละ 1 ครั้งๆละ 60 คน รวม 15,000 คน และการจัดกิจกรรมมอบเกียรติบัตรและเข็มสัญลักษณ์เครือข่ายฯ จำนวน 15,000 คน พบว่า ผู้รับจ้างส่งงานไม่ครบถ้วนตามสัญญา เช่น การจัดอบรมที่ใช้ชื่องานไม่ตรงกับชื่อโครงการ การนำรายชื่อบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาอยู่ในจำนวนผู้เข้าอบรม เป็นต้น

งวดที่ 3 (20% ของค่าจ้าง) การรณรงค์ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ มีปัญหาเบิกจ่ายยังไม่ได้ เนื่องจาก งวดงานที่ 2 มีปัญหาค้างคาอยู่จึงไม่สามารถเบิกจ่ายงวด 3 ได้ตามลำดับ มีรายงานว่า ขณะนี้หน่วยงาน สื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่ง รวมถึงสื่อออนไลน์ และเอเจนซี่ต่างๆ วางบิลหนี้ค้างชำระมาที่ มศว. เป็นระยะเวลานานนับปีแล้ว และงวดที่ 4 (10% ของค่าจ้าง) มีงานที่สำคัญ อาทิ การจัดงานแถลงผลการดำเนินโครงการ, การจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการ และทะเบียนรายชื่อเครือข่ายภาครัฐฯ พร้อมสังกัดและที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ แต่เนื่องจากงานงวดที่ 4 เป็นงานที่สืบเนื่องกับงานงวดที่ 2 จึงยังไม่สามารถจ่ายเงินงวดที่ 4 ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ สำหรับโครงการดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ท.ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2557 ประเภทงบรายจ่ายอื่น และจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีตกลงจากสถาบันการศึกษาของรัฐ เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 24 กรกฎาคม 2558

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559