ผู้บริหารประตูกรุงเทพฯช้ำ ที่ดินกว่า 200 ไร่แนวสายสีเขียวเหนือราคาดิ่งเหว

17 พ.ค. 2559 | 15:00 น.
ผู้บริหารประตูกรุงเทพฯสุดช้ำ หลังปลื้มรฟม.ขายฝันความร่วมมือพัฒนาที่ดินกว่า 200 ไร่ย่านพหลโยธินกม.25 เพื่อเปิดทางสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต ของจริงกลายเป็นแนวเส้นทางรถไฟฟ้าแบ่งแยกพื้นที่จากผืนงามแตกเป็นเสี่ยงๆจนลดมูลค่าที่ดินจากหลักแสนล้านเหลือหลักหมื่น กลายเป็นพื้นที่ร้างในพริบตา

นายวิเชียร กลิ่นสุคนธ์ ประธานโครงการประตูกรุงเทพฯ ย่านพหลโยธินกิโลเมตรที่ 25 เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต ว่าโครงการประตูกรุงเทพฯได้ให้ความร่วมมือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ด้วยดีมาตลอด เพื่อหวังให้รถไฟฟ้าได้มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาโครงการประตูกรุงเทพฯและพื้นที่ใกล้เคียงนั้น

ล่าสุดปรากฏว่าเมื่อแนวเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านพื้นที่โครงการ กลับส่งผลให้พื้นที่แปลงใหญ่ขนาดกว่า 200 ไร่ ที่มีมูลค่าหลักหมื่นถึงหลักแสนล้านบาท กลับมีพื้นที่คงเหลือเป็นเพียงแปลงเล็กๆ ส่งผลให้ศักยภาพของที่ดินเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มูลค่าที่ดินจากตร.ว.ละ 4 แสนบาทลดเหลือเพียงกว่า2 หมื่นบาทต่อตร.ว.เท่านั้นจากกรณีประเมินค่าเวนคืน อีกทั้งโดนเปลี่ยนจากเจ้าของที่ดินกลายมาเป็นผู้เช่าที่ดินจาก

รฟม. และต้องโดนเพิ่มค่าเช่า 5% ทุก 3 ปีอีกด้วย

ประการสำคัญผู้ประกอบการค้าขาย โดยเฉพาะกลุ่มเฟอร์นิเจอร์พื้นบ้านในโครงการประตูกรุงเทพฯที่มีกว่า 1พันราย ได้รับผลกระทบช่วงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ไม่สามารถเข้า-ออกพื้นที่ได้สะดวก ต้องเร่งหาพื้นที่ขายใหม่อย่างอลหม่าน หลายรายต้องทิ้งพื้นที่ทำเลทองแห่งนี้ให้กลายเป็นพื้นที่ร้าง เนื่องจากไม่มีลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าหนาแน่นอย่างแต่ก่อน

"เตรียมยื่นอุทธรณ์หวังขอความเมตตาเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกับรฟม. เนื่องจากพบว่าโครงการดังกล่าวได้ทำความเสียหายให้ที่ดิน จนเรียกได้ว่าเป็นการละเลงที่ดินแปลงใหญ่จนลดมูลค่าที่ดินมาก บางจุดเหลือพื้นที่เพียงแค่ศอกเดียว ที่สำคัญประตูกรุงเทพฯยังจะต้องเสียดอกเบี้ย 7.5% ให้รฟม.เมื่อโดนกำหนดค่าเช่าต่อไร่ และทุก 3 ปียังคิดเพิ่มอีก 5% ปัจจุบันมูลค่าที่ดินของประตูกรุงเทพฯมูลค่ารวมนับแสนล้านบาท จากเหลือเพียงตร.ว.ละกว่า 2 หมื่นบาทเท่านั้น โดนไปทั้งสิ้นกว่า 50 ไร่ ช่วงก่อนนี้มีเอกชนสนใจมาเสนอแผนการลงทุนบนพื้นที่ 100 ไร่คิดเป็นมูลค่ากว่าพันล้านบาทกับสัญญาเช่า 30 ปี แต่ขณะนี้ต้องประกาศถอนการลงทุน เนื่องจากพื้นที่ประตูกรุงเทพฯทั้งด้านหน้าและด้านหลังโดนรฟม.ปรับพื้นที่ทั้งหมด ส่งผลให้ค่าเช่าที่ประตุกรุงเทพฯที่เคยได้รับเดือนละกว่า 10 ล้านบาทสูญหายไปในทันที"

นายวิเชียร กล่าวอีกว่าสำหรับแผนการพัฒนาพื้นที่กม.25 ย่านพหลโยธิน ที่เรียกว่า "ประตูกรุงเทพฯฯ" นั้นเนื่องจากรฟม.มีความชัดเจนที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตแล้ว ขณะนี้รฟม.อยู่ระหว่างการเร่งเวนคืนพื้นที่เพื่อก่อสร้างแนวเส้นทางไปยังพื้นที่คูคต คาดว่าปลายปีนี้จะมีความชัดเจนในเรื่องพื้นที่ต่างๆ

โดยแผนการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนั้นเดิมกลุ่มเมกะจากจีนสนใจจะขอเช่าพื้นที่ประมาณ 100 ไร่เพื่อก่อสร้างอิเกีย ศูนย์จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ในส่วนพื้นที่ด้านหลังอีกประมาณ 70-100 ไร่นั้นจะยังคงนำไปพัฒนาเป็นแหล่งการค้ารองรับระดับรากหญ้าที่มีอยู่มากในพื้นที่ ตลอดจนมีแผนที่จะสร้างอาณาจักรสวนน้ำขนาดใหญ่เพื่อเป็นสถานีที่พักผ่อนอีกด้วย

"พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์รับโบนัสตาม FAR การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าในระยะไม่เกิน 500 เมตร แต่ยังติดปัญหาความสูงของเส้นทางการบินจึงสามารถพัฒนาได้ในวงจำกัด ล่าสุดรฟม.ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่พร้อมใช้พื้นที่ในอาคารบางส่วนปฏิบัติหน้าที่บ้างแล้ว"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559