มอเตอร์เวย์ (ช่วงพัทยา-มาบตาพุด) ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียน

20 พ.ค. 2559 | 04:00 น.
โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์)หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง ช่วงพัทยา – มาบตาพุด มูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท โดยกรมทางหลวงแบ่ง 13 ตอนเริ่มก่อสร้างปี 2559 ให้แล้วเสร็จในปี 2562

จัดเป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ปี 2558 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน พร้อมยกระดับคุณภาพการเดินทางและการขนส่งสินค้าสู่มาตรฐานสากล ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนระบบคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีความพร้อมในการเชื่อมโยงฐานการผลิตและส่งออกทั้งทางบกและทางน้ำสู่ประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

โดยกรมทางหลวงจะดำเนินการก่อสร้างเชื่อมต่อเส้นทางจากช่วงชลบุรี – พัทยา บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 36 ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 3 บริเวณอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง และการก่อสร้างปรับปรุงถนนโครงข่ายเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 3 บริเวณตำบลบ้านอำเภอ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 7.856 กิโลเมตร โดยก่อสร้างเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ในเขตทางกว้าง 80 เมตร มีทางแยกต่างระดับ ได้แก่ ทางแยกต่างระดับมาบประชัน ทางแยกต่างระดับห้วยใหญ่ ทางแยกต่างระดับบ้านเขาซีโอน

นอกจากนี้ ยังมีสถานีบริการทางหลวง ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณตำบลห้วยใหญ่ (ประมาณ กม.20) ด่านจัดเก็บเงินค่าผ่านทางแบบระบบปิด 3 แห่ง ได้แก่ ด่านห้วยใหญ่ ด่านเขาชีโอน และด่านอู่ตะเภา พร้อมติดตั้งระบบควบคุมความปลอดภัยด้านจราจรตลอดสายทาง ทั้งนี้เพื่อให้ดำเนินงานก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดได้ตรงตามแผนภายในปี 2562 โดยได้แบ่งช่วงการก่อสร้างออกเป็น 13 ตอน รวมระยะทาง 31 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 14,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจากกองทุนเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางของทางหลวงพิเศษ ระยะเวลาดำเนินงานก่อสร้าง 4 ปี (ระหว่างปี 2559 – 2562)

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นเส้นทางสายหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาคตะวันออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางอากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559