ติงแผนปั๊มพหลโยธินซับซ้อน สถาปนิกสยามชี้ไม่แก้จราจร/2 บิ๊กอสังหาฯเกาะติด

10 มิ.ย. 2559 | 08:00 น.
สถาปนิกสยามฯติงแผนพัฒนาย่านพหลโยธิน 2,325 ไร่ซับซ้อน จี้ปมการพัฒนาโซน C ในภายหลัง อาจกระทบโครงการอื่นๆ ด้านสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยชี้ยังไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาจราจร ผอ.สนข.เผย CPN และแลนด์แอนด์เฮ้าส์เกาะติดผลการศึกษา เตรียมเปิดโซน D นำร่องการพัฒนาภายใต้คอนเซปต์ TOD ให้เป็นศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ และฮับการเดินทางเชื่อมต่อขนาดใหญ่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน คาดตตุลานี้เสนอครม.ไฟเขียวก่อนเร่งพัฒนาเปิดใช้งานปี 62

ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร ประธานสถาบันสถาปนิกสยาม สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธินและการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคมว่า ผังโครงการฯ เริ่มมีความชัดเจนและมีความละเอียดแล้ว แต่เนื่องจากศูนย์คมนาคมพหลโยธิน หรือพื้นที่โซน C ตั้งอยู่ด้านในของพื้นที่รวมทั้งโครงการ แต่ตามแผนจะเป็นพื้นที่ที่จะพัฒนาในระยะต่อไป ภายหลังจากโซน A,B และD ซึ่งตามแผนการออกแบบพื้นที่จะเป็นส่วนของศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย อาจจะส่งผลกระทบต่อโซนดังกล่าวในระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้างศูนย์คมนาคมพหลโยธินในภายหลังหรือไม่ นอกจากนั้นเส้นทางถนนเชื่อมโยงสู่พื้นที่ควรมีความชัดเจนด้วย

"ภาพที่น่าเป็นห่วงมีผังรับน้ำในแต่ละพื้นที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีการป้องกันน้ำท่วม ควรมีบ่อหน่วงน้ำ ประการสำคัญกรณีที่พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นเมืองประหยัดพลังงาน หรือกรีน ซิตี้ นั้นจะทำได้จริงหรือไม่ อีกทั้งการกระจายตัวของระบบขนส่งมวลชนทั้งภายใน-ภายนอกจะกำกับอย่างไร"

ด้านโชคชัย บรรลุทางธรรม อุปนายกฝ่ายประสานงาน สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า จากรายละเอียดโครงข่ายคมนาคมที่นำเสนอ ระบบรถไฟฟ้ายังไม่เชื่อมโยงกับอีกหลายเส้นทาง แต่ก็มีบริการรถบีอาร์ทีมารองรับ ที่สำคัญจะสามารถเปิดบริการในปี 2562 ได้หรือไม่ อีกประเด็นในเรื่องของผังเมืองสำหรับพื้นที่ศูนย์คมนาคมจะกำหนดอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน หรือเอฟเออาร์ ต้องให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาพื้นที่ คือการใช้ประโยชน์ทางแนวสูงในพื้นที่ดังกล่าว

"เห็นว่าผลการศึกษานั้นแผนยังไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาจราจร ทำให้นักลงทุนไม่กล้าตัดสินใจ ขณะนี้ทราบว่าผู้ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในพื้นที่ถอยออกมาจำนวนหลายราย อย่างไรก็ตาม พื้นที่ย่านตลาดนัดจตุจักรเป็นจุดที่น่าสนใจ"

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่าผลการศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินในพื้นที่ 2,325 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่สถานีกลางบางซื่อ พื้นที่สวนสาธารณะ พื้นที่พัฒนาโครงการ กม. 11 และพื้นที่ย่านตึกแดง ซึ่งได้ออกแบบเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่โครงการทั้งทางเดินเท้า และการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินกับพื้นที่ต่างๆ โดยรอบ

โดยในครั้งนี้ประกอบด้วย 1. แนวทางการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม โดยนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (Transit Oriented Development :TOD) มาใช้ทั้งในบริเวณพื้นที่ 2,325 ไร่และพื้นที่โซน D ประมาณ 80 ไร่ที่สามารถนำไปพัฒนาได้ก่อนซึ่งจากผลการศึกษาได้กำหนดแนวคิดการพัฒนา คือ "ศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับ ASEAN" เพื่อส่งเสริมให้สถานีขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

"เบื้องต้นค่ายพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง CPN และแลนด์แอนด์เฮ้าส์แสดงความสนใจในผลการศึกษาดังกล่าว โดยจะเร่งสรุปหลังจากที่เปิดรับฟังความเห็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือนตุลาคม 2559 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2562 ซึ่งตามผลการศึกษาศูนย์คมนาคมพหลโยธินจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งระบบรางของสถานีกลางบางซื่อในอนาคต และก้าวสู่การเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559