ไฟเขียวร่วมทุนแอร์พอร์ตลิงค์ BTSยันความพร้อมลุ้นนโยบายรัฐวิสาหกิจเคาะความชัดเจน

15 มิ.ย. 2559 | 02:00 น.
บอร์ด ร.ฟ.ท.ไฟเขียวโครงการพีพีพีแอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง รูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 40 ปี กรอบวงเงินกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท โดยรัฐลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท "วุฒิชาติ" เร่งเสนอคมนาคมชงสคร.พิจารณารูปแบบที่เหมาะสม บีทีเอสยันพร้อมร่วมลงทุนแต่ต้องขอดูรายละเอียดความชัดเจนข้อมูลการร่วมลงทุนอีกครั้ง

นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า คณะกรรมการการรถไฟฯ มีมติอนุมัติให้ ร.ฟ.ท.ไปดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนและดำเนินโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-พญาไท (แอร์พอร์ตลิงค์) และส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-ดอนเมืองเรียบร้อยแล้วโดยการอนุมัติโครงการร่วมลงทุน(PPP) ของแอร์พอร์ตลิงค์ช่วงพญาไท –ดอนเมือง ในครั้งนี้จะนำเสนอการดำเนินงานร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost มีกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการ 40 ปี ภายใต้กรอบวงเงิน 41,870 ล้าน บาทโดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางการเงิน 13.7% ซึ่งรัฐโดยร.ฟ.ท.จะลงทุน 24,236 ล้านบาท

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการร.ฟ.ท.กล่าวเสริมว่า หลังจากนี้จะเร่งสรุปข้อมูลเพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมนำเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)ถึงรูปแบบการร่วมลงทุนตามที่ร.ฟ.ท.นำเสนอต่อไป

"บอร์ดร.ฟ.ท.เห็นชอบกรณีการร่วมลงทุนซึ่งจะเร่งนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป แต่เนื่องจากกระบวนการนี้ยังคงต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอีกหลายปี โดยเฉพาะพีพีพีฟาสต์แทร็กจะมีกรอบระยะเวลาดำเนินการประมาณ 9 เดือนและคงต้องรอความเห็นของคณะกรรมการตามมาตรา 35 พิจารณาประกอบไปด้วย ซึ่งต้องแต่งตั้งเมื่อสคร.พิจารณาเห็นชอบแล้ว โดยการก่อสร้างต้องให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟสายสีแดงมิสซิ่งลิงค์ช่วงผ่านจากพญาไท-บางซื่อซึ่งจะมีโครงสร้างร่วมกกับแอร์พอร์ตลิงค์โดยการร่วมทุนจะให้ครอบคลุมทั้งการก่อสร้างและการเดินรถ"

ทั้งนี้การดำเนินโครงการจะกำหนดไว้เฉพาะการร่วมลงทุนช่วงพญาไท-ดอนเมือง แต่ในแนวทางการบริหารจะครอบคลุมหมดทั้งเส้นทาง เบื้องต้นเป็นเพียงการกำหนดแนวทางนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมและสคร.พิจารณานำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) กรณีการร่วมลงทุนพีพีพี ส่วนจะกระทบกับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัดในอนาคตอย่างไรนั้นต้องรอความชัดเจนในการพิจารณาจาก สคร.และคณะกรรมการพีพีพีต่อไป นอกจากนั้นยังต้องปฏิบัติตามร่างบันทึกเอกสารประกวดราคาที่คณะกรรมการตามมาตรา 35 กำหนดไว้ด้วย

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสกล่าวว่า ข้อมูลตามที่ร.ฟ.ท.นำเสนอในเบื้องต้นเห็นว่ามีความน่าสนใจในการร่วมลงทุนกับระยะเวลา 40 ปีกับอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางการเงิน 13.7% ซึ่งต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจน

"นับเป็นสิ่งที่ดีที่รัฐโดยร.ฟ.ท.เปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการของร.ฟ.ท.มากขึ้นยืนยันว่าน่าสนใจกับการร่วมลงทุนแอร์พอร์ตลิงค์โดยเฉพาะระยะเวลาและการรีเทิร์นจำนวน 13% ซึ่งมีความเป็นไปได้ แต่ต้องพิจารณาเรื่องประมาณการณ์ผู้โดยสารและค่าโดยสารประกอบกันด้วย ว่ามีแนวทางความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร ต่ำกว่าหรือน่าเชื่อถือหรือไม่"

สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายพญาไท-บางซื่อ- ดอนเมือง อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ ร.ฟ.ท. โดยกระทรวงคมนาคมเร่งให้ก่อสร้างจากช่วงพญาไทไปถึงบางซื่อ ส่วนช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองจะต้องลุ้นระยะต่อไปเนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับแก้แบบทางที่จะใช้เส้นทางร่วมกับรถไฟไทย-จีนและรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ประการสำคัญกระทรวงคมนาคมมีแผนก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวนี้เชื่อมโยงไปถึงสนามบินอู่ตะเภาอีกด้วย ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้ส่งเรื่องไปยังครม.เพื่อขออนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างในช่วงดังกล่าว คาดว่าจะได้เปิดประมูลภายในปลายปี 2559 นี้และได้ตัวผู้รับเหมาดำเนินโครงการในปี 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559