สถิติข้อมูลปริมาณการจราจรโดยสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.)กรุงเทพมหานคร(กทม.) พบว่าโซนพื้นที่คลองสาน-ธนบุรีมีรถยนต์ใช้บริการประมาณ 2.2 แสนคันต่อวัน ผู้โดยสารทางเรือทั้งเรือด่วนและเรือโดยสารข้ามฟากประมาณ 3.5 หมื่นคนต่อวัน ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสประมาณ 5.02 หมื่นคนต่อวัน ดังนั้นแม้ว่ารัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม และกทม. จะเร่งดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางสีลม(สนามกีฬา-บางหว้า)หรือบีทีเอส ให้บริการไปจนถึงพื้นที่บางหว้า อีกทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ยังมีแผนก่อสร้างรถไฟสายสีแดงจากหัวลำโพงไปสิ้นสุดที่มหาชัย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) อยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย(หัวลำโพง-บางแค) แล้วยังมีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ใต้(เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ในเร็วๆ นี้ก็ตามเชื่อว่ายังไม่ทำให้การเดินทางเชื่อมโยงสะดวกรวดเร็วหรือครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวได้
[caption id="attachment_66504" align="aligncenter" width="700"]
แผนที่รถไฟฟ้า[/caption]
ดังนั้นกทม.จึงเร่งดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนเสริม(Feeder) หรือระบบรองนำผู้โดยสารในพื้นที่ป้อนให้กับระบบขนส่งมวลชนหลักเพื่ออำนวยความสะดวกด้วยการเร่งศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-เขตคลองสาน-ประชาธิปก) อำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง จูงใจให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและหันมาเดินทางเชื่อมต่อรถ เรือ ราง มากยิ่งขึ้น
"รถไฟฟ้าสายสีทอง" แนวเส้นทางเริ่มต้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีกรุงธนบุรี จากนั้นมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนกรุงธนบุรี สู่ทางแยกกรุงธนบุรี-ถนนเจริญนคร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจริญนคร มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ ผ่านแหล่งชุมชน ร้านค้า สถานศึกษา วัด ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม โรงแรมแล้วจึงเข้าสู่ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ไปสิ้นสุดโครงการก่อนถึงวัดอนงคารามวรวิหาร รวมระยะทาง 2.7 กิโลเมตร มีจำนวน 4 สถานี
โดยสถานีกรุงธนบุรี จะอยู่บริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร อยู่บริเวณข้ามคลองวัดทองเพลง สถานีคลองสาน อยู่บริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน(จะเชื่อมกับรถไฟสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย) โดยจะมีทางเดินสกายวอล์กเข้าสู่โรงพยาบาลได้โดยตรงอีกด้วย และสถานีประชาธิปก อยู่บริเวณก่อนถึงวัดอนงคารามวรวิหาร(จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง) รูปแบบทางยกระดับทั้งเส้นทาง เสาตอม่อตั้งอยู่เกาะกลางถนนและทางเท้า ศูนย์ซ่อมจะอยู่บริเวณใกล้ๆกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกรุงธนบุรี
ตามผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจพบว่ามีความเหมาะสมในการลงทุน มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(Economic Internal Rate of Return : EIRR 28.5%) มูลค่าการลงทุนทั้งเส้นทาง 3,845 ล้านบาท คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561 จะช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและประหยัดเวลาในการเดินทางคิดเป็นมูลค่าประมาณ 830 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มเป็น 2,417 ล้านบาทต่อปีในปี 2581(คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการในระยะที่ 1 ในปี 2561 ประมาณ 4.7 หมื่นคนต่อเที่ยว-วัน และในระยะที่ 2 ในปี 2566 ประมาณ 8.1 หมื่นคนต่อเที่ยว-วัน)
รถไฟฟ้าเส้นทางนี้จะใช้ระบบขนส่งมวลชนระบบรอง(โมโนเรล) นำทางอัตโนมัติ(AGT) ที่ควบคุมการเดินรถด้วยระบบคอมพิวเตอร์ใช้ระบบไฟฟ้า ใช้ล้อยางจึงไม่เกิดเสียงดัง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 1 ตู้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 80-100 คนหรือขนส่งผู้โดยสารได้ 4,000-1.2 หมื่นคนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ซึ่ง 1 ขบวนสามารถต่อพ่วงได้ 6 ตู้ โดยตามแผนจะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะคือระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 2,512 ล้านบาท ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร คาดแล้วเสร็จ ปี 2561 และระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 1,333 ล้านบาท ระยะทาง 0.9 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2566
โครงการนี้นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดแล้วยังลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดมลภาวะ เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง และประหยัดเวลาการเดินทาง แต่ยังมีลุ้นว่าท้ายที่สุดแล้วเอกชนโดยกลุ่มไอค่อนสยามจะลงทุนให้กทม. หรือกทม.จะต้องควักเงินลงทุนเองทั้งเส้นทางกันแน่
หากกทม.ยอมควักเงินลงทุนเพิ่มก่อสร้างส่วนต่อขยายไปเชื่อมสายสีม่วงใต้ แล้วขยายแนวผ่านแยกบ้านแขกเลี้ยวขวาเข้าถนนอิสรภาพไปบรรจบกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย(หัวลำโพง-บางแค)ที่สถานีอิสรภาพจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้ประชาชนได้อีกมาก เชื่อมรถไฟฟ้า 4 เส้นทางคุ้มกว่ากันไหม ???
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559