ป.ป.ช. ตอบโจทย์อนาคตประเทศ 20 ปี ปรับร่างยุทธศาสตร์ปราบโกงระยะที่3

12 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
จากยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 2 ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2560 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงมีมติให้เริ่มยุทธศาสตร์ชาติฯระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2560-2565 ทั้งนี้ เพื่อให้รับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งมีศ.ภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2559 พร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆนำไปจัดทำคำของบประมาณประจำปีงบประมาณถัดไปได้

[caption id="attachment_69930" align="aligncenter" width="335"] พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช.[/caption]

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวช่วงบรรยายพิเศษ "ทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564)" ว่า เป็นร่างแรกที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดย ป.ป.ช.ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ สังเคราะห์และรวบรวมข้อคิดเห็นจากเวทีต่างๆที่จัดขึ้นตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา

ในร่างยุทธศาสตร์ฯระยะที่ 3 นี้จะนำข้อมูลทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีข้างหน้ามาปรับใช้ในงานป้องกันปราบปรามการทุจริต และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย ตลอดจนพัฒนาระบบการป้องกันการทุจริตเชิงรุก และการปฏิรูปกลไกการปราบปรามการทุจริตที่จะนำไปสู่การยกระดับผลการประเมินดัชนีภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศ (CPI) ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตั้งเป้าได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หากเราไม่เร่งพัฒนาให้เป็นรูปธรรม มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนประเทศอาจจะถอยลงไปได้ จึงนับเป็นความท้าทายที่ต้องพยายามก้าวขึ้นไปให้สูงกว่าที่เป็นอยู่นี้ให้ได้

โดยในส่วนของยุทธศาสตร์การปราบปรามเพื่อปฏิรูประบบและกระบวนการจัดการให้มีประสิทธิภาพซึ่งองค์กรอิสระประสบปัญหาเรื่องนี้ มีคดีร้องเรียนการทุจริตเพิ่มสูงขึ้น ดังเช่น กรณีของ ป.ป.ช. ที่มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียนอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง 11,000 เรื่อง สะสางได้เพียง 250-300 คดี จำเป็นต้องเร่งรัด และพัฒนากระบวนการทำงานให้พิจารณาให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสมควร ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติเพิ่มบุคลากรให้ ป.ป.ช.หลายอัตรา คาดว่า ปีนี้จะวินิจฉัยได้ 500 คดี คิดเป็น 100% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนคดีที่เหลืออยู่ เชื่อว่า ในปีถัดไปจะสามารถจัดการได้ 750-1,000 คดี ภายใน 2 ปีข้างหน้าคดีที่ค้างจะเสร็จสิ้นทั้งหมด 100% ในปี 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีนโยบายชัดเจนว่า คดีที่รับในปีนี้และสั่งไต่สวนมูลฟ้อง ต้องได้รับการไต่สวนข้อเท็จจริงในปีนี้ และต้องเสร็จภายใน 1 ปี โดยเฉพาะคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนคดีเล็กหรือคดีที่เกิดขึ้นในภูมิภาคจะต้องเสร็จภายใน 6 เดือน และภายใน 1 ปีต้องสามารถให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาวินิจฉัยคดีเพื่อชี้มูลความผิด และส่งให้อัยการสูงสุดได้ ซึ่งหลังจากที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ผ่านกฎหมายจัดตั้งศาลทุจริตแล้ว จะทำให้การดำเนินคดีเร็วขึ้น โดยคดีในศาลชั้นต้น คดีอุทธรณ์ สามารถพิจารณาวินิจฉัยได้ภายใน 1 ปี เชื่อว่า คดีจะถึงที่สุดได้ภายใน 3-4 ปี

ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามแก้ไขปัญหา อาทิ แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ป.ป.ช. มองว่า ภายหลังมีรัฐธรรมนูญแล้ว ควรกำหนดให้มี คณะกรรมการบูรณาการยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเป็นกลไกระดับชาติให้อยู่ในกฎหมายเฉพาะ แก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2542 เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของรธน.ใหม่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประธาน ป.ป.ช. เป็นรองประธาน มีรัฐมนตรีตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤตมิชอบร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ อาทิ รมว.มหาดไทย รมว.ยุติธรรม เลขาธิการป.ป.ช. เลขาธิการสภาพัฒน์ ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อเป็นหน่วยงานดูแล ให้ความเห็นชอบการร่างแผนปฏิบัติ และแผนงบประมาณในแต่ละปีให้เกิดเป็นรูปธรรม

และมี กรรมการระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการฯและหัวหน้างานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคมต่างๆเข้าร่วม เพื่อกำกับติดตามยุทธศาสตร์ชาติในระดับจังหวัด และนำไปสู่การเสนองบประมาณดำเนินการมายังส่วนกลาง นอกจากนี้อาจมี "อนุกรรมการแต่ละยุทธศาสตร์" เพื่อเข้าไปบูรณาการประเด็นต่างๆในแต่ละยุทธศาสตร์ด้วย

"ในปี 2559 พบว่า มีงบประมาณบูรณาการประมาณ 800 ล้านบาท ขณะที่ในร่างงบประมาณปี 2560 ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภา ผ่านวาระหนึ่งแล้วนั้น เหลือแค่ 500 ล้านบาทเท่านั้น สะท้อนว่า งานปราบปรามการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ถดถอยลง"

ส่วนการกำกับติดตามประเมินผลสำเร็จและผลกระทบ ป.ป.ช. เสนอว่า ควรมีกระบวนการกำกับติดตามและประเมินภาพรวมระดับชาติเป็นระยะ และเน้นผลลัพธ์ ดูทั้ง outcome และ impact ที่เกิดขึ้นจากการนำยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 3 ไปใช้ ประเมินผลกระทบทั้งด้านของสังคม การเมือง นโยบาย ที่สำคัญที่สุด คือ ด้านเศรษฐกิจ

น่าสนใจว่า ร่างยุทธศาสตร์ปราบโกงระยะที่ 3 ที่กำลังร่างกันอยู่ในขณะนี้ จะตอบโจทย์ประเทศไทยในยุค 4.0 ได้มากน้อยเพียงใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559