‘ไดกิ้น’รับดีมานด์โต ตั้งเป้าโกย 2.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2563

26 ก.ค. 2559 | 14:00 น.
ถือเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพ สำหรับ "ไดกิ้น" เครื่องปรับอากาศสัญชาติญี่ปุ่น ที่คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี ในการผลิตนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศมายาวนานกว่า 90 ปี แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยยังชะลอตัว แต่ไดกิ้นยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดเครื่องปรับอากาศว่ายังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก จากอัตราการถือครองเครื่องปรับอากาศที่มีสัดส่วนประมาณ 23% ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้มองเห็นโอกาสการขยายตัวของเครื่องปรับอากาศในต่างจังหวัดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง ทำให้ "ไดกิ้น" พร้อมเดินหน้ารุกตลาดเมืองไทยอย่างเต็มที่

[caption id="attachment_74632" align="aligncenter" width="350"] ฮิโตชิ ทานากะ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด ฮิโตชิ ทานากะ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด[/caption]

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์พิเศษ "ฮิโตชิ ทานากะ" ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด ถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของสยามไดกิ้นฯ นับจากนี้

 มีแผนขยายตลาดเมืองไทยอย่างไร

นายทานากะ บอกว่า ภาพรวมของตลาดเครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัยในเมืองไทย มีมูลค่ารวมราว 3 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7%ต่อปี แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปีนี้ ทำให้มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 40% ในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน โดยไดกิ้นเองมียอดขายเติบโตถึง 60% ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่บริษัทจะต้องเตรียมพร้อมรับมือในอนาคต ขณะที่ตลาดเครื่องปรับอากาศประเภทอินเวอร์เตอร์มีการเติบโตถึง 70% ส่วนไดกิ้นเติบโต 80% และเป็นผู้นำในตลาดอินเวอร์เตอร์ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 30%

"ปัจจุบันการซื้อเครื่องปรับอากาศนับเป็นการลงทุนในระยะยาว ผู้บริโภคจึงคำนึงถึงความคุ้มค่า และการบำรุงรักษาเครื่องให้มีอายุการใช้งานยาวนาน ซึ่งเครื่องปรับอากาศไดกิ้นสามารถตอบทุกโจทย์ที่ผู้บริโภคต้องการ"

ดังนั้นนอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมต่อเนื่อง บริษัทยังเน้นการเปิดสาขาใหม่ เพื่อช่วยขยายฐานผู้บริโภคให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทได้เปิดสาขาใหม่รวม 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการได้รับความสะดวก รวดเร็วทั้งด้านงานขาย และงานบริการ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์อบรมให้กับดีลเลอร์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เป็นตัวแทนด้านงานบริการ ซึ่งจะทำให้มีศักยภาพ ทักษะความรู้เพิ่มขึ้นด้วย

 สยายปีกช็อปคลุมทั่วประเทศ

โดยในอนาคตบริษัทวางแผนขยายตลาดด้วยการเตรียมเปิดสาขาไปยังจังหวัดต่างๆ รวม 10 แห่ง ภายในปี 2561 เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อาทิ ภาคเหนือ จ.นครสวรรค์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี และ จ.นครราชสีมา, ภาคกลาง จ.ราชบุรี, ภาคตะวันออก จ.ระยอง และภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น โดยใช้งบลงทุนราว 100-120 ล้านบาท โดยเน้นด้านการบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มร้านตัวแทนจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศไดกิ้น หรือไดกิ้นโปรช็อป (Pro shop" โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 2 ล้านบาทต่อสาขา โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีร้านโปร ช้อปเพิ่มขึ้นเป็น 100 แห่ง ภายในปี 2563 หรือจะมีร้านโปร ช้อปจังหวัดละ 1 แห่ง

"ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ยังคงสามารถขยายงานและการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง มีการรับสมัครพนักงานฝ่ายขาย และฝ่ายบริการเพิ่มขึ้น และได้ส่งเสริมด้านความรู้โดยการจัดฝึกอบรม"

จากการแข่งขันที่ดุเดือดทำให้บริษัทเพิ่มความสำคัญในการทำตลาดกลุ่ม B2B เช่น กลุ่มงานโครงการ และกลุ่มดีเวลอปเปอร์มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายช่องทางจำหน่ายทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวมถึงการใช้ซูเปอร์สตาร์คนดัง "ณเดชน์ คูกิมิยะ" มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งถือเป็นแม่เหล็กที่จะช่วยสร้างการรับรู้และเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมาก

ปัจจุบันไดกิ้นมีช่องทางการจัดจำหน่ายแบ่งเป็น โมเดิร์นเทรด 10% ดีลเลอร์ 55 % และโครงการ 30% ซึ่งการขยายสาขาไปทั่วประเทศ ทำให้บริษัทตั้งเป้าเติบโต 10-15 % และก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของผู้นำตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยภายในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

 บ.แม่ไฟเขียวลงทุนเพิ่ม 1.5 หมื่นล.

นายทานากะ กล่าวอีกว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในภูมิภาคยุโรปและจีน รวมทั้งตลาดในประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ทำให้บริษัทแม่ให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจในอเมริกาเหนือ เอเชีย โอเชียเนียมากขึ้น เนื่องจากยังมีช่องว่างให้เข้ามาทำตลาดเครื่องปรับอากาศได้อีกมาก โดยบริษัทมีแผนใช้งบลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศในเวียดนาม 1 หมื่นล้านบาทเพื่อรองรับตลาดในประเทศ แทนที่การนำเข้าจากไทย และจะให้ไทยส่งออกไปประเทศอื่นแทน และการลงทุนขยายโรงงานคอมเพรสเซอร์ในไทยที่ จ.ระยอง 5,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมคาดว่าจะสามารถก่อสร้างเสร็จพร้อมเริ่มผลิตได้ในปี 2561

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้รวม 1.1 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22% และตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ 2.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 แบ่งเป็นรายได้มาจากกรุงเทพฯ 27% ต่างจังหวัด 73% ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่สัดส่วนยอดขายในกรุงเทพฯ 60% ต่างจังหวัด 40%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559