โค้งอันตรายประชามติรธน. เปิดหน้าสู้ ‘รับ - ไม่รับ’

28 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
เขม็งเกลียวแน่นขึ้นเป็นลำดับตามกรอบเวลาที่งวดลงทุกขณะสู่วันออกเสียงประชามติ รธน.7 สิงหาคมนี้แล้ว เมื่อกลไกภาครัฐเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายเต็มรูปสกัดการขยับหวังขับเคลื่อนของฝ่ายต่อต้านแบบไม่ให้ก่อกระแสจนลุกลามเกินควบคุม ถึงกระนั้นยิ่งใกล้วันชี้ชะตากระแส “ไม่รับ” เริ่มก่อหวอดและเปิดหน้าประกาศตัวต่อเนื่อง ควบคู่กับปรากฏการณ์ “ฉีกรายชื่อ” เกิดขึ้นถี่ยิบ ทั้งจากมือบริสุทธิ์ของเด็กๆวัย 5-7 ขวบ หรือฝูงลิงที่เป็นเหตุสุดวิสัยไปจนถึงวัยรุ่นคนเมาฉีกมาเผาไล่ยุงที่หลายกรณีถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีเบื้องหลังหรือไม่ ทั้งการล่อลวงหรือจ้างวานให้กระทำเพื่อป่วนสถานการณ์หรือหวังใช้เป็นประเด็นจุดกระแสรังแกเด็กหรือวัยรุ่นคนเมาย้อนถล่มรัฐบาลคสช. ให้ต้องจับตานับถอยหลังจากนี้สู่วันออกเสียงประชามติที่อุณหภูมการเผชิญหน้าเร่งตัวขึ้นนี้ จะเดือดถึงจุดระเบิดหรือไม่

"แนวร่วม" ล้มร่างรธน.

ความเคลื่อนไหวไม่รับร่างรธน.มีมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มก้อนนปช.และพรรคเพื่อไทยได้วิพากษ์วิจารณ์และแสดงจุดยืน“ไม่เอา” ตั้งแต่ยังร่างไม่เสร็จ

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางบรรยากาศการตรวจเข้มของหน่วยงานรัฐ เพื่อควบคุมเหตุการณ์ให้อยู่ในความเรียบร้อย เริ่มมีการประกาศจุดยืนทั้งในนามส่วนตัวหรือเป็นกลุ่มแนวร่วม “ไม่รับ” ร่างรธน.กันอย่างคึกคักต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการแถลงข่าวกลุ่มประชาชนผู้ห่วงใย นำโดย “โคทม อารียา-สุริชัย หวันแก้ว” เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม เรียกร้องรัฐบาลคสช. ขอให้เปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงความเห็นอย่างรอบด้านสร้างสรรค์ และขอความชัดเจนแผนที่เดินทางต่อหากประชามติไม่ผ่าน โดยยํ้าว่าการร่างรธน.ใหม่ครั้งที่ 3 ต้องเปิดกว้างให้มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

จดหมายเปิดผนึกนี้มี 17 องค์กร และ 117 ตัวบุคคลร่วมลงนาม นอกจากแกนนำนปช. พรรคเพื่อไทยแล้ว แกนนำพรรคประชาธิปัตย์นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคร่วมลงนามด้วย รวมถึงแกนนำและองค์กรเอ็นจีโอหลากหลายเครือข่ายจากด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อมสุขภาพ นักวิชาการทั้งที่เคยมีจุดยืนหนุนเสื้อแดงและฝ่ายกปปส.

มายกระดับเป็นการประกาศ“ไม่รับ” ร่างรธน.อย่างชัดเจน ในงาน“ใส่ใจประชามติรธน. กำหนดอนาคตประชาชน” ที่หอประชุม ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา จัดโดย 43 องค์กรเอ็นจีโอ-ภาคประชาสังคม อาทิเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาสมัชชาคนจน ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เป็นต้น

โดยไม่เห็นด้วยทั้งในส่วนของเนื้อหาร่างรธน. ที่เห็นว่าขาดความชอบธรรมตั้งแต่ต้น นำประเทศถอยหลังทั้งหลักการประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และสวัสดิการประชาชน แก้ไขยากในวิถีทางปกติ ที่สุดอาจต้องใช้วิธีนอกระบบนำความสูญเสียสู่สังคมไทย รองรับการใช้อำนาจม.44 ของคสช.ไว้ต่อไป และรัฐบาลหลังเลือกตั้งทำอะไรได้ยากมาก ถูกรัฐธรรมนูญตีกรอบแน่น

หรือในส่วนคำถามพ่วง ที่ให้อำนาจส.ว.จากการแต่งตั้ง มีอำนาจเลือกนายกฯองค์กรอิสระมีอำนาจกว้างขวางสามารถถอดถอนและควบคุมรัฐบาลได้ “ทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือรองรับการสืบทอดอำนาจเท่านั้น” ควบคู่ไปกับเริ่มมีการเปิดตัวประกาศจุดยืนส่วนบุคคลของผู้คนแวดวงต่างๆ ว่า “ไม่รับ” ร่างรธน.มากขึ้นเรื่อยๆ

ความเคลื่อนไหว “ค้านรางรธน.”เริ่มก่อรูปขบวนของแนวร่วมพรรคการเมืองนักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ สื่อมวลชนบางส่วน ซึ่งต้องจับตาว่ากระแสจะขยายตัวเติบโตขึ้นอีกในช่วง 2สัปดาห์นับถอยหลังสู่วันออกเสียงประชามติเช่นที่เคยเกิดกระแส “ธงเขียว” คราวผลักดันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ฉบับประชาชนได้หรือไม่

คุมเข้ม"กระแสป่วน"ดันโรดแมป

ขณะที่ท่าทีแกนนำรัฐบาลและคสช. ยืนยันการกำกับอย่างเข้มข้นตามกฎหมาย แต่พยายามบริหารสถานการณ์อย่างจำแนก ในกลุ่มการเคลื่อนไหวของนักศึกษา นักวิชาการ พยายามตีกรอบให้อยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย หรือหากออกพื้นที่ก็จะเข้าสกัด ระงับกิจกรรม แจ้งข้อกล่าวหาแต่ไม่กุมขังระยะยาวให้เป็นเงื่อนไข แต่หากเป็นกลุ่มขบวนการที่เชื่อมโยงขั้วการเมืองนั้น สั่งประกบติด ขยายผล และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้ม

โดย พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล แถลงล่าสุด ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่รัฐที่กำกับดูแลเต็มกำลัง "ซึ่งมีผู้ไม่หวังดีคอยสร้างสถานการณ์ขัดขวางการเดินหน้าโรดแมป" ระบุมีข้อมูลการข่าวชี้ยิ่งใกล้วันยิ่งพยายามสร้างความปั่นป่วน "เพื่อหวังให้คนเบื่อหน่ายไม่ออกไปลงประชามติ

และลงลึกพฤติกรรมทางคดีที่ทางการกำลังเดินหน้า ว่าเมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ มีบางกลุ่มรีบออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง ทั้งที่หลายพฤติการณ์สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวคนเหล่านี้ หรือกล่าวหารัฐบาลจัดฉาก ก่อนตั้งคำถามกลับว่า สังคมจะไว้ใจเชื่อถือฝากอนาคตประเทศไว้กับคนเหล่านี้ได้หรือ

โดยเหตุป่วนร่างรธน.นั้น มีการเผยแพร่ใบปลิวโจมตีร่างรธน.ส่งไปถึงบ้านเรือนประชาชนเกลื่อนภาคเหนือมาก่อนหน้า ได้สอบสวนขยายผล เริ่มแรกกลับไปตรวจค้นบ้านแกนนำนปช.ลำปาง ที่ถูกปลดป้ายขณะพยายามตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติแต่ไม่พบอะไร กระทั่งปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาตำรวจ-ทหารบุกค้นบ้านพัก-ห้องทำงานตระกูล"บูรณุปกรณ์" ตระกูลนักการเมืองท้องถิ่นของเชียงใหม่ หลังจับกุมคนแจกเอกสารดังกล่าว จนเชื่อมโยงขยายผลถึงกลุ่มการเมืองใหญ่ในพื้นที่ พบเอกสารที่เตรียมส่งประชาชน ตลอดจนจักรยานที่สอดคล้องกับภาพทีวีวงจรปิด ซึ่งตำรวจกำลังขยายผลอาจนำไปสู่การขอออกหมายจับนักการเมืองในพื้นที่ต่อไป

 รัฐเตรียมพร้อมคุมเข้ม

เป็นที่สังเกตว่า ควบคู่กับกระแสเปิดหน้าแถลง "ไม่รับ" นั้น แกนนำรัฐบาลตอกย้ำผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ และแสดงความพร้อมการผนึกกำลังกลไกราชการทุกหน่วยทุกระดับ ที่จะดูแลสถานการณ์ให้ไปสู่วันออกเสียงประชามติให้ได้

โดยนายกฤษฎา บุญราช ปลัดมหาดไทย ได้ส่งข้อความทางแอพพลิเคชันไลน์ ถึงฝ่ายปกครองทุกระดับตั้งแต่ผู้ว่าฯไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารอปท.ทั่วประเทศ ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชมเชยเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างทุ่มเทเสียสละ โดยเฉพาะการแก้ความเข้าใจผิดที่มีผู้พยายามปล่อยข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงและสร้างสถานการณ์ สร้างความสับสนในพื้นที่

ขณะที่สำนักงานเลขาธิการคสช. ได้เรียกประชุมโดยพล.อ.วลิต โรจนภักดี รองผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นประธาน และสั่งการให้ดูแลสถานการณ์บ้านเมืองให้เรียบร้อย เพื่อรองรับการออกเสียงประชามติ รวมทั้งสนับสนุนกกต.ตามที่ได้รับมอบหมาย

"กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ จะร่วมดูแลความสงบทุกเรื่อง ตรวจสอบไม่ให้มีการจัดตั้ง หรือนำบุคคลใดมาใช้เป็นเครื่องมือกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ"

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ส่งสัญญาณถึง"ทักษิณ ชินวัตร"ในวาระวันคล้ายวันเกิดว่า อยากให้อยู่เฉย ๆ ปล่อยให้คสช.ทำงาน ถ้าไปไม่ได้แล้วค่อยว่ากัน เวลานี้กำลังทำตามโรดแมปส่วนการดำเนินการของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เกี่ยวกับการออกเสียงประชามตินั้น ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย

โพลล์ชี้คน"รับ"เพิ่ม

ขณะที่กระแสเอ็นจีโอ นักวิชาการขั้วการเมือง ขยับแสดงตัว “ไม่รับ” กันหนาตาขึ้นมาแล้วนั้น ควบคู่กันก็มีคนแสดงตัว “รับ” ร่างรธน.อยู่ด้วยเช่นกันที่ประกาศสนับสนุนร่างรธน.ของรัฐบาลคสช.มาพักใหญ่ คือ สุเทพ เทือกสุบรรณอดีตผู้นำขบวนมวลชนกปปส. พร้อมบันทึกคลิปอธิบายข้อดีเผยแพร่เป็นรายวันผ่านสื่อสังคมออนไลน์มาระยะหนึ่งแล้วหรือล่าสุด “ดร.มานะ นิมิตรมงคล”เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT)ประกาศหนุนร่างรธน. โดยชี้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่วางกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันไว้ดีที่สุด

ขณะที่ผลสำรวจของนิด้าโพลล์ล่าสุด ครั้งที่ 9 ถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรธน. นั้น ส่วนใหญ่ (เกือบ 60%)ระบุยังไม่ตัดสินใจ ขณะที่ 32.27% บอกจะไปลงมติรับร่างฯ จำนวน 5.93% บอกจะไปลงมติไม่รับ มี 2.07% บอกว่าไปแต่จะโหวตโน เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนหน้า ปรากฏว่าสัดส่วนคนยังไม่ตัดสินใจลดลงเล็กน้อย โดยครั้งก่อนมีผู้ยังไม่ตัดสินใจ 62.48%

แม้ว่าสัดส่วนคนไปออกเสียงที่โหวตรับจะสูงกว่ากลุ่มไม่รับค่อนข้างมากแต่กลุ่มที่ระบุยังไม่ตัดสินใจยังเป็นสัดส่วนประชากรส่วนใหญ่ คือเกือบ 2 ใน 3 ซึ่งอาจทำให้ผลการออกเสียงประชามติเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง

ซึ่งจะยิ่งเร่งอุณหภูมิการแข่งขันในช่วงสุดท้ายนี้ยิ่งขึ้น ที่ถูกจับตาไม่กะพริบว่า รัฐบาลจะคุมเกมให้อยู่ในกรอบไว้ได้ตลอดรอดฝั่งถึงวันลงประชามติหรือไม่!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559