เปิดแผนพัฒนา 3เมืองต้นแบบใต้ 'บิ๊กตู่'จี้เห็นเป็นรูปธรรมใน4 ปี

02 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
ผลจากการเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ เพื่อติดตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมพระนราภิบาล อาคารศาลากลางจังหวัดนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส โดยประชุมร่วมกับส่วนราชการ ภาคเอกชน และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เร่งรัดแผนพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน" เชื่อมโยง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยใช้อัตลักษณ์ของพื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อน มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันที่ 78.93 พันล้านบาท แบ่งเป็น ปัตตานี 35.96 พันล้านบาท ยะลา 22.32 พันล้านบาท และนราธิวาส 20.65 พันล้านบาท ตามลำดับ

[caption id="attachment_76844" align="aligncenter" width="700"] ความเชื่อมโยงเมืองต้นแบบในพื้นที่ ความเชื่อมโยงเมืองต้นแบบในพื้นที่[/caption]

"หนอกจิก"หน้าด่านอุตฯปาล์มน้ำมัน

ขีดเส้นที่เมืองหน้าด่านอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี นายศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีให้อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสานว่า จุดเด่นของอำเภอหนองจิก คือการเป็นเมืองหน้าด่านของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มรวมกันกว่า 60,000 ไร่ ขณะที่ในพื้นที่มีโรงงานน้ำมันปาล์มที่สามารถรองรับการแปรรูปผลผลิตได้มากกว่า 120,000 ไร่

"ที่ผ่านมาโรงงานในพื้นที่แปรรูปผลผลิตให้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 30% และรับผลผลิตจากนอกพื้นที่มาแปรรูปอีก 70% หากสามารถขยายพื้นที่ พัฒนาให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อป้อนโรงงานที่มีกำลังผลิตที่ยังมีศักยภาพเหลืออีกจำนวนมาก เชื่อว่า จะสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร รวมถึงต่อยอดเกิดการแปรรูปต่อไปได้" นายศิริชัย ประธานหอการค้าปัตตานี ระบุ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของหอการค้าปัตตานี ระบุว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งสิ้น 300,000 ไร่ คิดเป็นรายได้รวมประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยเกษตรกรมีรายได้จากปาล์มน้ำมันประมาณ 1,675 บาท/ไร่/เดือน (คำนวณจากผลผลิต 3 ตัน/ไร่/ปี และราคาซื้อที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 16%)
นายศิริชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ และเอกชนในพื้นที่สนใจลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับปาล์มน้ำมันแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท อาทิ โรงสกัดน้ำมันปาล์ม ขนาด 45 ตันทะลาย/ชั่วโมง โรงไฟฟ้าชีวภาพ ขนาด 2 เมกะวัตต์ ขายไฟแล้ว โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 6.5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ และโรงปุ๋ยจากเศษของเหลือต่างๆในกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

"เบตง"ท่องเที่ยวครบวงจร

ด้านนายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา ปลายด้ามขวานของไทย กล่าวถึงอัตลักษณ์ของอำเภอเบตง จังหวัดยะลาที่ต้องการผลักดันให้เป็นเมืองต้นแบบของการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนว่า อำเภอเบตงนั้นได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างพื้นที่ ชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยตั้งเป้าให้เป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบครบวงจร มีโรงแรมและที่พักผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่สูงกว่าการใช้ไฟฟ้าทั้งจังหวัด จึงมีการเตรียมความพร้อมด้านพลังงาน โดยได้พัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้น 3 แห่งเพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล ป้อนความต้องการในพื้นที่จึงถูกหยิบยกมาเป็นจุดแข็งในการพัฒนาด้านพลังงานแบบยั่งยืน ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านอาหารนั้น จะส่งเสริมให้ทำเกษตรสมัยใหม่ตามแนวพระราชดำริ รวมถึงส่งเสริมการทำสินค้า อาหารพื้นเมือง อาหารแปรรูป ที่พัก ย่านธุรกิจและการค้าชายแดน เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในระยะแรกนี้ อาทิ ให้อำเภอเบตงสามารถมีจุดออกวีซ่าได้ โดยวีซ่าที่ออกใหม่ นอกจากจะสามารถเข้ามาเลเซียได้แล้ว ยังสามารถกำหนดพื้นที่ให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่สามารถอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ภายใน 72 ชั่วโมง และอนุญาตให้ฟรีวีซ่าสำหรับคนจีนที่เข้าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ สัญญาณโทรศัพท์ที่มาเลเซียเมื่อเข้ามาในไทยให้สามารถใช้แบบข้ามแดน (Roaming)ได้ รวมถึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาด่านศุลกากรที่แออัด และมีพนักงานน้อย เนื่องจากพบว่า ช่วงงานเทศกาลหรือวันสำคัญไม่สามารถรองรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ ผลที่ได้คาดว่าจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เมื่อสนามบินแล้วเสร็จในปี 2561 และเกิดรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4 เท่าจากรายได้ปัจจุบันหรือประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี

 "สุไหงโก-ลก"ค้าชายแดนนานาชาติ

ขณะที่จังหวัดนราธิวาสนั้น ต้องการผลักดันให้เป็นเมืองต้นแบบการค้าชายแดนนานาชาติ เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ เนื่องจากมีด่านตรวจคนเข้าเมือง 2 จุด คือ สุไหงโก-ลก และตากใบ และกำลังเร่งพัฒนาด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรบุเก๊ะตา ระยะที่ 3 ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้เป็นศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญเบื้องต้นขอรับการสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินการ โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในรูปแบบสานพลังประชารัฐ เพื่อสร้างให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่และเกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ อาทิ จัดซื้อหรือขอให้ที่ดินของการเคหะแห่งชาติ 25 ไร่ เพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ชายแดนต้นแบบ หรือส่งเสริมการเช่าพื้นที่การรถไฟฯ ในราคาพิเศษเพื่อการพาณิชย์ หรือสร้างจุดขายใหม่ เสนอให้ก่อสร้างจุดท่องเที่ยวสำคัญ (Landmark) เพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือเอกลักษณ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาใช้บริการในเมืองสุไหงโก-ลก รวมทั้งศูนย์กีฬาครบวงจร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภค และสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่สุไหงโก-ลกเพื่อรองรับการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนเชื่อมโยงไปถึงมาเลเซียตอนในและสิงคโปร์

 ต้องเป็นรูปธรรมภายใน 4 ปี

นอกจากนี้นายกันต์พงษ์ ประธานหอการค้ายะลา ยังกล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องการให้เป็นโครงการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้อัตลักษณ์ของพื้นที่ตนเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบยาแรง เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากข้อเสนอที่ได้กำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวไว้ 2 ระยะระยะละ 3 ปี โดยนายกฯเห็นควรให้เร่งรัดให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วในรัฐบาลชุดนี้ กำหนดให้เป็น 2 ระยะระยะละ 2 ปี โดยเชื่อว่า เมื่อสามารถชูจุดเด่นในพื้นที่ได้แล้วจะทำให้เกิดการลงทุนในด้านที่เกี่ยวเนื่อง ต่อยอดไปถึงการสร้างงาน สร้างความเจริญและเชื่อมโยงไปยังพื้นที่โดยรอบ รวมถึงเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและคนในพื้นที่ได้

ส่วนข้อเสนอและเงื่อนไขของภาคเอกชนเพื่อจูงใจธุรกิจขนาดใหญ่และเอกชนที่มีศักยภาพนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวบรวมข้อเสนอและเงื่อนไขต่างๆให้เรียบร้อยภายใน 1 เดือน ก่อนนำเสนอผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559