‘ปธ.คสรท.’ตอกยํ้าภาพเดินขบวนจะมีให้เห็น หากผู้ใช้แรงงานยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

05 ส.ค. 2559 | 06:00 น.
ก่อนยุติบทบาทเส้นทางนักต่อสู้เพื่อแรงงานลงในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ด้วยเหตุจำเป็นต้องกลับไปดูแลครอบครัว โดยเฉพาะมารดาที่อายุมากแล้วที่บ้านเกิดจังหวัดขอนแก่น "นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย" ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ในฐานะผู้นำแรงงานหญิงก่อนยุติบทบาทนี้ได้อย่างน่าสนใจ

[caption id="attachment_78754" align="aligncenter" width="335"] วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)[/caption]

เส้นทางชีวิตของ "ป้าวิ-วิไลวรรณ แซ่เตีย" ไม่ต่างจากคนเด็กสาวต่างจังหวัดทั่วไป หลังจากช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่หลายปี ในวัย 19 ปีเธอมุ่งหน้าเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ ด้วยความรู้ประถม 4 เริ่มทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง พนักงานในร้านอาหาร กระทั่งเข้าทำงานเป็นสาวฉันทนาที่โรงงานทำถุงเท้าย่านอ้อมน้อย (บริษัท นครหลวงถุงเท้าไนลอน จำกัด) ในจังหวัดสมุทรสาคร

เริ่มงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ใช้ชีวิตเช่นนี้มาตลอด จาก "น้องวิ" มาเป็น "พี่วิ" รับค่าแรงวันละ 20 บาท ขยับเป็น 310 บาทในปัจจุบัน อัตราค่าจ้างที่ได้รับสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดที่วันละ 300 บาท เพียง 10 บาท
ชื่อของ "ป้าวิ" เป็นที่รู้จักเมื่อร่วมต่อสู้กับกระบวนการแรงงาน ชุมนุมเรียกร้องไม่ให้เลิกจ้างคนท้องเมื่อปี 2524 ก่อนเข้าร่วมกับกลุ่มต่างๆ เพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานในหลายๆเรื่อง เช่น การลาคลอดบุตร และการเรียกร้องจัดตั้งกองทุนประกันสังคม จนประสบความสำเร็จ ขณะที่บางเรื่องยังคงเดินหน้าเรียกร้องผลักดันต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทั้งเรื่องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน เพราะนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การแก้ไขปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม และที่ยากที่สุด คือ "อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ"

ในวัย 61 ปี ป้าวิได้รับเลือกให้เป็น "ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวขององค์กรด้านแรงงานที่หลากหลาย ทำงานร่วมกับวิสาหกิจสัมพันธ์ต่างๆ งานจิตอาสาที่ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีเงินเดือนให้ แต่ดูแลสมาชิกกว่า 140,000-150,000 คนทั่วประเทศ

วิไลวรรณ กล่าวยอมรับว่า เป็นงานที่ต้องพบกับแรงเสียดทานรอบด้าน วิไลวรรณ ขยายความให้ฟังว่า ไม่ใช่ในเชิงของการแข่งขันแย่งชิงเก้าอี้ประธาน คสรท. แต่แรงเสียดทานที่ประสบพบเจอ คือ การทำงานเป็นตัวเชื่อม ตัวกลางของกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นกันชนระหว่างกลุ่มผู้ใช้แรงงานกับภาคเอกชน และผู้ใช้แรงงานกับภาครัฐ

วิไลวรรณ ประธาน คสรท. ตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางขับเลื่อนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานว่า รูปแบบแนวทางการเจรจาต่อรองของกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ปรับเปลี่ยนไป มียุทธวิธี มีขั้นมีตอนที่ชัดเจนและฉลาดมากยิ่งขึ้น จากเดินขบวนประท้วง ยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ยื่นข้อเจรจากับผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง นำมาสู่เทคนิคการเจรจาต่อรองบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลเข้ามาสนับสนุน ใช้วิธีการต่อสู้ในเชิงนโยบาย ใช้เหตุและผลมากขึ้น

แม้ว่าปัญหาของผู้ใช้แรงงานในอดีต เมื่อเทียบกับปัจจุบันหลายเรื่องจะดีขึ้น มีกฎหมายเข้ามาดูแลคุ้มครองแรงงาน มีสวัสดิการแรงงาน มีกฎหมายประกันสังคมที่ดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย และมีกฎหมายกองทุนทดแทนกรณีเกิดการเจ็บป่วยจากการทำงาน แต่ยังมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายอยู่

วันนี้แม้ว่าจะมีกฎหมายการชุมนุมมาปิดกั้น แต่หากมีสถานการณ์ที่แรงงานคิดว่า ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งจากการบังคับใช้กฎหมาย สถานประกอบการ หรือนายจ้างที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง คิดถึงแต่ผลประโยชน์ตัวเอง ไม่คิดจัดสรรปันส่วนให้เกิดความเป็นธรรม กลุ่มผู้ใช้แรงงานยังมีปัญหาเรื่องปากท้องหากสิ่งเหล่านี้ยังดำรงอยู่ ก็เชื่อว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งได้ถ่ายทอดกระบวนการองค์ความรู้ต่างๆเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกันเอาไว้ คงจำนนไม่ได้ เชื่อว่า ภาพกลุ่มแรงงานออกมาชุมนุม เดินบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆจะยังคงมีอยู่

"การปิดล้อมหน่วยงานราชการ กระทรวง ทำเนียบรัฐบาล สถานประกอบการจะลดน้อยลง แต่จะไม่หายไปจากสังคมไทย หากผู้ใช้แรงงานยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม..."

เป็นเสียงเตือนจากผู้นำแรงงานหญิงก่อนยุติบทบาทภารกิจเพื่อสังคมมากว่า 30 ปี...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559