เมย์ชูนโยบายหนุนการผลิต เดินหน้าวางยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมหลังเบร็กซิท

05 ส.ค. 2559 | 10:00 น.
“เทเรซา เมย์” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ เรียกประชุมคณะกรรมาธิการยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก เตรียมฟื้นฟูนโยบายสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเป็นแนวทางสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคหลังเบร็กซิท

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้ โดยคณะกรรมาธิการดังกล่าวถูกตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมความหลากหลายของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และกระจายการเติบโตออกไปสู่เมืองและภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีหน้าที่สำคัญในการแก้ปัญหาการเติบโตของผลิตภาพในระยะยาว ส่งเสริมด้านนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับอังกฤษ

นางเมย์กล่าวก่อนการประชุมว่า รัฐบาลของตนจะให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกคน ไม่ใช่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภาพ ตอบแทนคนที่ทำงานหนักด้วยค่าจ้างที่สูงขึ้น และสร้างโอกาสให้กับคนหนุ่มสาว ตลอดจนจะต้องมีแผนการกระจายการเติบโตออกไปทั่วไปเทศ ตั้งแต่พื้นที่ชนบทไปจนถึงเมืองใหญ่

"ถ้าเราจะอาศัยความได้เปรียบจากโอกาสที่เกิดขึ้นจากเบร็กซิท เราจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้พุ่งไปข้างหน้า ด้วยเหตุนี้งานของคณะกรรมาธิการชุดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นและเราจะเริ่มต้นทำงานในทันที" นางเมย์กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการชุดใหม่จะประกอบด้วยรัฐมนตรีจาก 11 กระทรวง ซึ่งรวมถึงนายฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีคลัง นายเกร็ก คลาร์ก รัฐมนตรีธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม นายเลียม ฟ็อกซ์ รัฐมนตรีพาณิชย์ และนายเดเมียน กรีน รัฐมนตรีแรงงาน

ผลการทำประชามติเพื่อลงความเห็นว่าต้องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไปหรือไม่ แสดงให้ถึงความไม่พึงพอใจของชาวอังกฤษในหลายภูมิภาค โดยนโยบายสำคัญจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตอยู่แล้วในอังกฤษ อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ ขณะเดียวกันจะต้องหาวิธีการสร้างความสมดุลให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการลดการพึ่งพาภาคบริการลง พร้อมกับหาทางกระจายรายได้ออกมาจากภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศที่มีความร่ำรวย

แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของนโยบายด้านอุตสาหกรรม แต่สื่อต่างประเทศคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะออกมาในรูปแบบของการผสมผสานการลงทุนจากภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบดั้งเดิม เช่น ถนน และรางรถไฟ และการลงทุนกับสิ่งจำเป็นสมัยใหม่ เช่น บรอดแบนด์ และพลังงานราคาถูก ตลอดจนการผลักดันให้มีการฝึกอบรมแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับความต้องการของอุตสาหกรรม

นางเมย์แสดงความชัดเจนว่าต้องการให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารงานของกระทรวงธุรกิจ โดยผนวกเข้ากับกระทรวงพลังงาน พร้อมกับเพิ่มชื่อ "ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม" ต่อท้ายเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคธุรกิจ โดยสมาคมผู้ผลิตของอังกฤษ หรืออีอีเอฟ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ใหม่ที่จริงจัง

"ในเวลานี้นโยบายด้านพลังงานและธุรกิจถูกผนวกรวมกันแล้ว เราจะมียุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่โฟกัสไปที่ความสามารถในการแข่งขันของอังกฤษ และสนับสนุนภาคการผลิตของเรา ในเวลาที่กำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ และเป็นการอาศัยโอกาสจากการตัดสินใจออกจากอียู" นายเทอร์รี สโคเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอีอีเอฟ กล่าว และเสริมว่า การปรับโครงสร้างในครั้งนี้น่าจะช่วยสร้างการเติบโตและสร้างเศรษฐกิจให้มีความสมดุลยิ่งขึ้น

ขณะที่สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอังกฤษ หรือซีบีไอ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมมีความจำเป็นในการกระตุ้นการลงทุนและนวัตกรรมในอังกฤษ และสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งทางกลุ่มได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมมาเป็นเวลานานแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559