ค่ายรถญี่ปุ่นปรับตัวรับเงินเยนแข็ง โตโยต้า-ฮอนด้างัดแผนลดค่าใช้จ่าย

09 ส.ค. 2559 | 09:00 น.
ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นมองหาวิธีการปรับตัวรับมือผลกระทบจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินเยน ขณะที่โตโยต้าคาดการณ์เงินเยนแข็งค่าอาจทำกำไรลดลงถึง 37% ในปีงบประมาณปัจจุบัน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น 7 รายมีกำไรลดลงร่วม 5 แสนล้านเยนในช่วงไตรมาสแรก โดยเฉพาะโตโยต้าที่ได้รับผลกระทบถึง 2.35 แสนล้านเยน ผู้ผลิตหลายรายต่างปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่าย ปรับลดต้นทุน และขอความช่วยเหลือจากทางรัฐบาล

สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น (JAMA) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ออกมาตรการตอบโต้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ผันผวน ผลกระทบจากการทำประชามติออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ และการชะลอตัวของตลาดเกิดใหม่

"JAMA ไม่เพียงแต่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่ยังเรียกร้องให้รัฐบาลนำมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะเร่งในเกิดการลงทุนสำหรับอนาคตของญี่ปุ่นมาใช้ด้วย" นายฮิโรโตะ ไซกาวะ ประธาน JAMA และรองประธานของนิสสัน มอเตอร์ กล่าวผ่านแถลงการณ์

โตโยต้าประกาศปรับลดคาดการณ์กำไรประจำปีงบประมาณปัจจุบันลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา เหลือ 1.45 ล้านล้านเยน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 1.5 ล้านล้านเยนเมื่อเดือนพฤษภาคม เงินเยนที่แข็งค่าทำให้กำไรจากการขายรถยนต์นอกญี่ปุ่นลดลง ขณะที่ผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ซื้อรถยนต์ซีดาน อาทิ คัมรี โคโรลลา และพรีอุส น้อยลง โดยเปลี่ยนไปซื้อรถยนต์ขนาดใหญ่มากขึ้นหลังจากราคาน้ำมันถูกลง

กำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะลดลง 43.9% เหลือ 1.6 ล้านล้านเยน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 1.7 ล้านล้านเยน ส่วนยอดขายคาดว่าจะลดลง 8.5% เป็น 26 ล้านล้านเยน จากคาดการณ์เดิม 26.5 ล้านล้านเยน

นอกจากนี้ โตโยต้าคาดหมายว่าจะลดค่าใช้จ่ายลงประมาณ 3.75 แสนล้านเยนในปีงบประมาณปัจจุบัน พร้อมปรับลดคาดการณ์การลงทุนและงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาลงรวมกัน 2 หมื่นล้านเยน

ทั้งนี้ โตโยต้ารายงานกำไรสุทธิประจำไตรมาสเดือนเมษายนถึงมิถุนายนที่ 5.52 แสนล้านเยน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่กำไรในไตรมาสดังกล่าวปรับตัวลดลง ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานลดลง 15% เหลือ 6.42 แสนล้านเยน ยอดขายลดลง 5.7% เป็น 6.59 ล้านล้านเยน

โตโยต้าผลิตรถยนต์ประมาณ 3 ล้านคันในญี่ปุ่น แตกต่างจากคู่แข่งอย่างฮอนด้าหรือนิสสันที่ผลิตรถยนต์ภายในประเทศในสัดส่วนที่น้อยกว่า ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวช่วยให้โตโยต้าทำกำไรได้สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่ค่าเงินเยนอ่อน แต่ในเวลานี้ที่เงินเยนแข็งค่าขึ้น โตโยต้าปรับแผนด้วยการหันไปเพิ่มการผลิตและซื้อชิ้นส่วนในสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีแผนลดกำลังการผลิตในญี่ปุ่น แต่จะใช้วิธีลดค่าใช้จ่ายแทน

ด้านฮอนด้าก็ใช้วิธีการรับมือกับการแข็งค่าของเงินเยนด้วยการปรับลดค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน โดยผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่นกล่าวว่า การลดค่าใช้จ่ายช่วยให้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน 4.57 หมื่นล้านเยนในไตรมาสแรก ทั้งนี้ ฮอนด้ามีแผนจะลดการลงทุน 14% และลดงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาลงกว่า 4% ในปีงบประมาณปัจจุบัน

ฮอนด้ารายงานผลกำไรสุทธิลดลง 6% ในไตรมาสเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็น 1.75 แสนล้านเยน โดยปัจจัยส่วนใหญ่มาจากเงินเยนที่แข็งค่า แต่บริษัทยังคงคาดการณ์กำไรในปีงบประมาณปัจจันซึ่งจะสิ้นสุดมีนาคม 2560 ไว้ที่ 3.9 แสนล้านเยน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559