ลุยประมงพาณิชย์2.2หมื่นลำ ตรวจเข้มใบอนุญาต1ใบต่อ1ลำ/หวั่น‘อียู’หวดเกินค่าMSY

09 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
กรมประมง ดีเดย์ 8 ส.ค.เตรียมสนธิกำลังตรวจเรือประมงพาณิชย์ 2.24 หมื่นลำพร้อมกัน 22 จังหวัดชายทะเล หลังพบพิรุธเรือมีใบอนุญาตมากกว่า 1 ใบ เสี่ยงขัดไอยูยูทำประมงเกินค่า MSY อีกด้าน สมาคมประมงดอดพบ “ฉัตรชัย” เสนอจัดตั้งกองทุนประมง โดยแบงก์รัฐลงขันเงินกู้ยืม3-5 พันล้าน แนะจี้ออกกฎหมายรีดภาษีผู้ส่งออกคืนกองทุน

[caption id="attachment_80419" align="aligncenter" width="700"] การออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ของกรมประมง ประจำปี 2559 - 2561 การออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ของกรมประมง ประจำปี 2559 - 2561[/caption]

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ทางกรมประมงจะสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อออกตรวจเรือประมงพาณิชย์ 22 จังหวัดชายทะเล ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ เพื่อออกทำการประมงในน่านน้ำไทยอย่างถูกต้อง ล่าสุด ทางกรมประมงได้มีการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ประจำปี 2559-2561ให้กับเรือขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอส ไปจนถึงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 22,436 ลำ (ดูตารางประกอบ)ทั้งนี้จะได้มีการตรวจสอบใบอนุญาตทำการประมง ว่าตรงกับจำนวนเรือที่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบเรือที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง(PIPO) พบว่ามีเรือหลายลำที่มีใบอนุญาตทำการประมงหลายประเภท

"ความจริงเรือ 1 ลำจะต้องมีใบอนุญาตทำการประมงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ แหล่งทำการประมงจะต้องเป็นฝั่งอ่าวไทยหรืออันดามันเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับค่า MSY หรือปริมาณผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำ ที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้การประมงของไทย เป็นการทำประมงแบบยั่งยืน ตามแนวทางการจัดระบบการทำประมงภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ใบอนุญาตทำการประมงจะมีอายุ 2 ปี เริ่มในปีการทำประมงใหม่ คือตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2559 -31 มีนาคม 2561 โดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงจะมีเครื่องหมายประจำเรือ และบัตรสำหรับใช้แทนใบอนุญาตรวมถึงสติกเกอร์ประจำเรือ เป็นต้น ถึงจะออกทำการประมงได้"

ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับกรมประมงที่จะต้องมีการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เรือประมงพาณิชย์ลำใดได้เปรียบรายอื่น ซึ่งเรือ 1 ลำควรจะออกใบอนุญาตทำการประมงเพียง 1 ใบเท่านั้น หรือถ้าจะให้มีการทำประมงเพิ่มในส่วนที่ไม่กระทบกับค่า MSY ก็สามารถกระทำได้ โดยให้ใส่ในใบอนุญาตเพิ่มเติมในใบนั้น รวมเป็นใบเดียวกัน จะได้ทราบจำนวนเรือ เพราะปัจจุบันจำนวนใบอาชญาบัตรหรือในอนุญาตทำประมงมีมากกว่าจำนวนเรือ และในการออกใบอนุญาตทำการประมง ทางกรมประมงไม่ได้ดูเรื่องชื่อผู้ครอบครองเรือ แต่จะดูใบอาชญาบัตรเก่าใครเป็นผู้ขอจะออกให้กับบุคคลนั้น ทำให้ศูนย์ PIPO ไม่อนุญาตให้เรือประมงที่มีชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ไม่ตรงกับเจ้าของทะเบียนเรือและใบอนุญาตใช้เรือ ออกทำการประมงไม่ได้ เรื่องนี้ทางสมาคมได้ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้เข้าพบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ทางสมาคมได้เสนอจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล โดยการกู้ยืมเงินจากธนาคารของรัฐ จำนวน 3,000-5,000 ล้านบาท (โดยทยอยกู้มาใช้) ในการที่จะมาซื้อเรือประมงเพื่อนำไปจมเป็นปะการังเทียม ปัจจุบันรัฐยังไม่ได้ซื้อเรือคืนแม้สักลำเดียว เพราะหากเกินลำละ 30 ล้านบาท ในแง่กฎหมายจะต้องจ่ายพร้อมกัน จะซื้อลำใดลำหนึ่งก่อนไม่ได้ ทั้งนี้การคืนเงินกู้เข้ากองทุน อาทิ ออกกฎหมายเก็บค่าธรรมเนียม (เงินเซสส์)ผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ ออกกฎหมายให้เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำการประมง และออกกฎหมายจัดสรรค่าภาคหลวงปิโตรเลียม (สำหรับแหล่งทะเล) เก็บเข้ากองทุน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรประมงทะเลอย่างเป็นรูปธรรม และช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ปัญหาไอยูยู ที่สำคัญการช่วยเหลือชาวประมงที่ไม่สามารถออกทำการประมงได้ จะได้ขายเรือเพื่อมีเงินมาเปลี่ยนอาชีพใหม่

ขณะเดียวกันได้เสนอแนะกรณีการนำเรือประมงออกจากระบบ มี 2 วิธีได้แก่ 1. การแลกเปลี่ยนเรือเก่ากับเรือใหม่ และ 2.การนำไปทำเป็นกองเรือ โดยร่วมทุนกับต่างประเทศ ในเรื่องนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯสนใจในประเด็นการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ ซึ่งจะมีการสอบถามถึงประเทศที่ยังพร้อมที่จะให้กองเรือไทยไปร่วม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559