ราชบุรีโฮลดิ้งรุกชิงรถไฟฟ้า หวังกระจายเสี่ยง/ปรับเป้ากำลังผลิตเป็นหมื่นMW

14 ส.ค. 2559 | 09:00 น.
ราชบุรีโฮลดิ้งแตกไลน์ธุรกิจ กระจายความเสี่ยงรายได้จากโรงไฟฟ้าเตรียมจับมือพันธมิตรยื่นประมูลรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู พร้อมเจรจาทำธุรกิจนํ้าประปาในลาว ทั้งเร่งขยายธุรกิจต้นนํ้า จัดหาก๊าซ-ถ่านหินป้อนโรงไฟฟ้า ยันคงเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2566 เป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 2,000 เมกะวัตต์

[caption id="attachment_84201" align="aligncenter" width="374"] รัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) รัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ยังคงมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า ล่าสุดบริษัทได้ซื้อซองศึกษาการเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง) และสายสีชมพู(ปากเกร็ด-หลักสี่-มีนบุรี-สุวินทวงศ์) ปัจจุบันได้เจรจากับพันธมิตรที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าวอยู่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะเรื่องการควบคุมระบบไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังศึกษาลงทุนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานน้ำประปาใน สปป.ลาว เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทมีออฟฟิศและความคุ้นเคยในการทำธุรกิจใน สปป.ลาว ขณะที่ทางรัฐบาลลาวต้องการขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น จึงนับว่าเป็นโอกาสเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรในลาว ขณะเดียวกันยังศึกษาขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และถ่านหินในลาวเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่การขยายธุรกิจการจัดหาเชื้อเพลิง เนื่องจากปัจจุบันพบว่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในอ่าวไทยเริ่มลดลง จึงจำเป็นต้องจัดหาเชื้อเพลิงอื่นเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) และถ่านหิน ซึ่งบริษัทศึกษาการลงทุนในธุรกิจจัดหาแอลเอ็นจีไว้เช่นกัน แต่ต้องรอความชัดเจนจากทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ได้รับอนุมัติลงทุนคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ FSRU ขนาด 5 ล้านตัน รวมทั้งได้เจรจาร่วมทุนธุรกิจแอลเอ็นจีกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไว้แล้วก่อนหน้านี้ ส่วนธุรกิจนำเข้าถ่านหิน ต้องรอความชัดเจนโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา ของ กฟผ. ให้มีความชัดเจนก่อน

ส่วนเงินลงทุนปีนี้บริษัทตั้งไว้ 1 หมื่นล้านบาท แต่หากมีการความชัดเจนในการลงทุนธุรกิจใหม่ก็จะต้องเพิ่มเงินเข้าไปอีก ซึ่งยืนยันว่าบริษัทมีฐานะการเงินค่อนข้างดี จึงไม่มีความกังวลแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ หรือ 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 12% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

นายรัมย์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุน ล่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้น 329.49 เมกะวัตต์ มาจากโครงการโรงไฟฟ้าหงสาหน่วยที่ 3 กำลังการผลิต 250.4 เมกะวัตต์,โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร 55.65 เมกะวัตต์ และบริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว มหาชน 23.44 เมกะวัตต์ ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 6.98 พันเมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 359 เมกะวัตต์

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและลงทุนขยายธุรกิจ มี 6 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอรชั่น จ.ราชบุรี(ถือหุ้น 35%) กำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์,โรงไฟฟ้าพลังงานลม ออสเตรเลีย (ถือ 80%) 144 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้านวนครเฟส2 กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์,โรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ภาคใต้ บริษัทยื่นไป 3 โครงการ และโรงไฟฟ้าโซลาร์ราชการ ที่ปัจจุบันยังรอความชัดเจนจากทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)

อย่างไรก็ตามบริษัทอยู่ระหว่างทบทวนแผนธุรกิจใหม่ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) ภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ แต่เบื้องต้นยังคงเป้ากำลังการผลิตไว้ที่ 1 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2566 จากปัจจุบันอยู่ที่ 6,980 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะมาจากการขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้ 2.7 หมื่นล้านบาท

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559