‘บิ๊กตู่’ ย้ำเลือกตั้งปลายปี60 ยันประเทศเดินหน้าตามโรดแมป

16 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
หลังทราบผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2559 อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏความเคลื่อนไหวล่าสุดจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เริ่มกันที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายศุภชัย สมเจริญประธานกกต. พร้อมด้วยนายบุญส่งน้อยโสภณ นายประวิช รัตนเพียรและนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ขณะที่นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ลาป่วย ร่วมแถลงผลการออกเสียงประชามติร่าง รธน.และคำถามพ่วงอย่างเป็นทางการว่า มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 29,740,677 คน คิดเป็น59.40% จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงตามบัญชีรายชื่อ 50,071,589 คนบัตรเสีย 936,209 ใบ คิดเป็น 3.15%

สำหรับประเด็นที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญประชาชนให้ความเห็นชอบ 16,820,402 คน คิดเป็น 61.35%ไม่เห็นชอบ 10,926,648 คน คิดเป็น41.93% ประเด็นที่ 2 คำถามพ่วงประชาชนเห็นชอบ 15,132,050 คนคิดเป็น 58.70% ไม่เห็นชอบ 10,926,648คน คิดเป็น 41.93% โดยจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก คือลำพูน 76.47% แม่ฮ่องสอน 74.36%เชียงใหม่ 73.17% ตาก 70.06% และเชียงราย 67.64% ส่วนจังหวัดที่เห็นชอบทั้งประเด็นที่ 1 และประเด็น 2เห็นชอบสูงสุด 5 จังหวัด คือ ชุมพรนครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และระนอง

ทั้งนี้ กกต.ได้ส่งรายงานผลคะแนนออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียบร้อยแล้ว พร้อมยืนยันถึงการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งว่าเป็นอำนาจของกรธ.ถ้ามีการประสานมายังกกต.ก็พร้อมที่จะเสนอ โดยได้มีการเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ส่วนที่มีการเสนอให้เซตซีโร่พรรคการเมืองเป็นเรื่องของกรธ.ที่จะพิจารณา กกต.ไม่มีหน้าที่ยกร่างเช่นกัน ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ประชุมกรธ.เป็นครั้งแรกที่อาคารรัฐสภา

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทยระบุยํ้าว่า วันนี้ (10 ส.ค.59) มีความชัดเจนแล้วการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปตามโรดแมปที่เคยประกาศไว้ทุกประการ นับจากขั้นตอนที่ 1 คือ เมื่อคสช.เข้ามาควบคุมสถานการณ์จนถึงมีรธน.ฉบับชั่วคราวและจัดตั้งรัฐบาลรวม 3 เดือน ขั้นตอนที่ 2 เริ่มจากจัดตั้งรัฐบาลนี้เมื่อ 2 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน และจะยังคงอยู่ต่อไปอีกประมาณ1 ปี ตามบทเฉพาะกาลของรธน.ฉบับใหม่จนถึงการเลือกตั้งในปีหน้า ส่วนขั้นตอนที่ 3 จะเริ่มเมื่อมีการเลือกตั้งตามโรดแมปและจัดตั้งรัฐบาลตามรธน.ฉบับใหม่ โดยสิ่งที่จะทำต่อจากนี้ไป คือ

1.กรธ.จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลของร่างรธน.ให้สอดคล้องกับประชามติตามประเด็นคำถามพ่วงซึ่งได้รับความเห็นชอบจากประชาชนแล้วและส่งให้ศาลรธน.ตรวจสอบความถูกต้องเสร็จแล้วจึงให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์เขียนร่างรธน.ที่สมบูรณ์ลงในสมุดไทย ซึ่งได้เตรียมการไว้ก่อนบ้างแล้ว หลังจากนั้น จะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพิจารณาและลงพระปรมาภิไธยต่อไป ใช้เวลารวมแล้วไม่เกิน 3 เดือน

2.เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้รธน.ฉบับใหม่แล้วรธน.ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะสิ้นสุดลง รธน.ฉบับใหม่จะเริ่มใช้บังคับกรธ.จะต้องจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ โดยเฉพาะ4 ฉบับแรกซึ่งจำเป็นต่อการเลือกตั้งจะต้องสำเร็จลงก่อนฉบับอื่นๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะจัดทำกฎหมายหลายสิบฉบับและเตรียมการอื่นๆตามที่รธน.ฉบับใหม่กำหนดไว้คู่ขนานกันไปซึ่งได้เตรียมการไว้บ้างแล้ว เมื่อเสร็จสิ้นจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ระหว่างนี้ คสช.รัฐบาล สนช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามบทเฉพาะกาลจนกว่าองค์กรใหม่จะเข้ามารับช่วงตามกติกาที่วางไว้ในรธน.ฉบับใหม่

และ 3.การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ อันจำเป็นต่อการเลือกตั้งเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและยากลำบากไม่น้อยไปกว่าการร่างรธน. ทั้งยังมีขั้นตอนอีกมากเช่น ต้องส่งให้ศาล รธน.และองค์กรต่างๆตรวจสอบความถูกต้องด้วย แต่คาดว่าน่าจะเสร็จ สิ้นจนประกาศใช้ได้ไม่เกินกลางปี 2560 หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันหรือ 5 เดือนซึ่งก็คือช่วงปลายปี 2560อันยังคงเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้หากสถานการณ์บ้านเมืองยังคงมีความสงบสุขดังเช่นปัจจุบันนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559