ลุยต่อเอกซเรย์3หมื่นแปลง ที่ส.ป.ก.ต้องสงสัย

17 ส.ค. 2559 | 15:00 น.
ผ่านมากว่า 1 เดือนเต็ม นับแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 36/2559 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ให้เครื่องมือพิเศษสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เปิดปฏิบัติการ129 วันทวงคืนที่ส.ป.ก.แปลงใหญ่ นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการส.ป.ก.ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาพรวมการดำเนินการยึดคืนที่ดินส.ป.ก. เพื่อนำมาจัดสรร แก้ปัญหาการขาดที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ต่อไป

[caption id="attachment_85961" align="aligncenter" width="336"] สรรเสริญ อัจจุตมานัส  เลขาธิการส.ป.ก. สรรเสริญ อัจจุตมานัส
เลขาธิการส.ป.ก.[/caption]

ที่มาคำสั่งคสช.36/2559

เลขาธิการ ส.ป.ก. แจงที่มาของปัญหาว่า ป่าไม้โอนที่ให้ 40 ล้านไร่ ส.ป.ก.ได้เข้าตรวจสอบและจัดเกษตรกรเข้าทำกินแล้ว 36 ล้านไร่ มีที่เข้าตรวจและจัดสรรไม่ได้ 4 ล้านไร่เศษ ในจำนวนนี้ประมาณ 2 ล้านไร่ได้เข้าสำรวจรังวัดและทำรูปแผนที่แล้ว ซึ่งพบว่าครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ เป็นที่แปลงใหญ่เกิน 500 ไร่ขึ้น มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 5 แสนไร่ ที่ไม่ยอมเข้าระบบ โดยมีผู้อ้างสิทธิครอบครองอยู่

โดยที่กฎหมายส.ป.ก.เป็นกฎหมายส่งเสริมไม่ใช่กฎหมายอนุรักษ์ กฎหมายไม่มีข้อห้ามการเข้าบุกรุกครอบครอง ไม่มีข้อกำหนดโทษ รวมทั้งไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้ายึดและรื้อถอนได้เองเลย เมื่อมีการโต้แย้งสิทธิต้องฟ้องร้องทางศาลตามป.วิแพ่งฯ ซึ่งแต่ละคดีใช้เวลา 7-10 ปี แม้หลังมีคำพิพากษาแล้ว ยังต้องมีกระบวนการบังคับคดีอีกยาวนาน "ถ้าผมมีอำนาจ 3 อย่างที่ว่านี้ก็ไม่ต้องขอใช้อำนาจพิเศษของม.44 ผมจะสั่งบังคับคดีให้ดู เป็นเรื่องของความกล้าตัดสินใจของผู้บริหาร"

นอกจากนี้ ในการเข้าตรวจสอบผู้ใหญ่บ้าน กำนัน คนในพื้นที่บอกได้ว่าใครอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ แต่พอจะทำบันทึกเพื่อฟ้องร้องไม่มีใครกล้าลงนาม ก็ฟ้องไม่ได้อีกเพราะไม่รู้ตัวจำเลย อย่างไรก็ตาม จากข้อจำกัดในเรื่องอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว นับจากปี 2554 ที่ส.ป.ก.ได้เข้าสำรวจและทำแผนที่การเข้าถือครองที่แปลงใหญ่เกิน 500 ไร่ในเขตส.ป.ก.นั้น มีจำนวน 531 แปลง เนื้อที่ 5.3 แสนกว่าไร่ แต่เมื่อมีคำสั่งคสช.ที่ 36/2559 ให้อำนาจเข้าสะสางปัญหาได้นั้น บางแปลงมีการดำเนินการแก้ไขไปแล้ว จึงเหลือที่เป็นเป้าหมายดำเนินการ 422 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 4.27 แสนไร่ ก็ได้สั่งทำแผนที่กำหนดขอบเขตให้ชัดเจนเป็นรายแปลง ต่อตรวจพบเพิ่มมาระหว่างดำเนินการ ล่าสุดมีเป้าหมาย 431 แปลง พื้นที่ 4.37 แสนไร่

เดือนแรกแผนปฏิบัติการ 129 วัน

หลังจากมีคำสั่งคสช.36/2559 แล้วนั้น ตามคำสั่งนี้ให้แก้ไขปัญหาที่ส.ป.ก. 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือที่แปลงใหญ่เกิน 500 ไร่

ขณะนี้ส.ป.ก.ไปปักป้ายแสดงแผนที่ครบทั้ง 431 แปลงแล้ว ซึ่งได้บันทึกทำรายละเอียดไว้หมดว่าปักวันไหน ครบกำหนดวันไหน เพื่อตรวจได้เลยว่าแปลงไหนมีใครค้านหรือไม่ค้าน ถ้าไม่ค้านเรายึดได้เลย ถ้ามีค้านก็ดูต่อว่าค้านเท่าไหร่ถ้าค้านครึ่งแปลง อีกครึ่งแปลงเราก็ยึดก่อน เพราะถือว่าไม่มีใครอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ เป็นเนื้อที่เท่าไหร่ ส่วนที่คัดค้านก็มาดูว่าอ้างสิทธิอะไร มาตรวจสอบดูกันต่อ

ส่วนที่อ้างมาคัดค้านก็ดูกันต่อว่าเป็นตัวจริงหรือนอมินี ตัวอย่างเช่น เขารู้ว่าถ้าไม่ถึง 500 ไร่ รอบนี้เรายังไม่ทำอะไร เขาอาจไปอ้างว่าที่ 600 ไร่เป็นของเขากับญาติคนละ 300 ไร่ เราต้องไปตรวจสอบว่าจริงไม่จริง ไปตรวจสอบการเสียภาษี ว่าเสียคนเดียวหรือเสียแยกพี่ใบน้องใบ ถ้าเสียแยกก็อาจจะจริง เราต้องให้ความเป็นธรรม ถือว่าเวทีนี้เราไม่ชก ยกไปไว้เวทีหน้าส่งฟ้องสู้ในศาล เพราะไม่ถึง 500 ไร่

ซึ่งระหว่างนี้มีผู้มาแสดงตนคัดค้านบ้างแล้ว ทำให้รู้ชื่อว่าใคร ชื่ออะไรมีใครบ้าง แบ่งได้เป็น 3-4 พวกคือเกษตรกรแท้ ๆ นายทุน ผู้มีอิทธิพล และนักการเมือง ซึ่งส.ป.ก.จะตรวจสอบต่อโดยผู้มาแสดงตัววันแรก ๆ น่าจะเป็นตัวจริง แต่ถ้ามาวันหลัง ๆ ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าจะเป็นตัวปลอมหรือไม่ ต้องตรวจตามหลักฐานเพื่อแยกแยะ

 11ก.ย.ชัดแปลงไหนยึด-ไม่ยึด

นายสรรเสริญชี้ว่า ตามกระบวนการทำงาน จะทราบผลวินิจฉัยของส.ป.ก. อย่างช้าสุด และเป็นล็อตใหญ่ คือ 11 กันยายนนี้ จะเห็นภาพรวมทั้งประเทศ แต่ละพื้นที่เร็วช้าต่างกัน ในกรณีจังหวัดที่มีไม่กี่แปลง ใช้เวลาตรวจสอบไม่ถึง 30 วัน เพียง แต่บางจังหวัดมีหลายแปลง เช่น นครราชสีมา 130 แปลง สระแก้ว 72 แปลง อาจเสร็จไม่ทัน ต้องส่งทีมเสริมเข้าไปช่วย

"11 ก.ย.นี้จะรู้เลยว่า รายไหนจะยึดรายไหนไม่ยึด แต่รู้จากจังหวัด โดยเรามีวิธีตรวจซ้อน เพราะไม่รู้ว่าส.ป.ก.จังหวัดใกล้ชิดกับใครในพื้นที่แค่ไหน ในระเบียบที่แจ้งไปจึงได้ระบุว่า จังหวัดไหนที่จะยึดให้ยึดได้เลย แต่ถ้ากรณีที่จะไม่ยึด จังหวัดนั้นต้องส่งรายละเอียดมาให้ผมพิจารณาก่อน เพราะไม่เช่นนั้นเราตอบสังคมไม่ได้ ว่าใครเป็นนอมินีหรือไม่ ใครตัวจริงตัวปลอม"

เอกซเรย์ทั่วประเทศซื้อที่ส.ป.ก.

เป้าหมายกลุ่มที่ 2 นั้น นายสรรเสริญแจงว่า เป็นที่ส.ป.ก.ที่จัดให้เกษตรกรไป แล้วนายทุนไปกว้านซื้อรวมแปลงเกิน 100 ไร่ กลุ่มนี้หากตรวจพบ จะสั่งให้เกษตรกรนั้นสิ้นสิทธิทันทีเพราะผิดเงื่อนไขชัดเจน ส่วน คนซื้อเป็นบริวารของคนขาย ส.ป.ก.ไม่ต้องไปรอฟ้องอะไรแล้ว เข้ายึดมาก่อน ส่วนทางคดีถ้าจะมาฟ้องส.ป.ก.ก็ว่ากัน ซึ่งงานในกลุ่มนี้ได้เริ่มทำต่อแล้ว หลังจากที่เร่งทำกลุ่มที่ 1 จนปักป้ายเสร็จสิ้นแล้ว

กรณีนี้ทางจังหวัดจะเริ่มตรวจสอบในการหาเป้าที่ต้องสงสัยนั้น จะใช้เอกสารส.ป.ก.4-01 เป็นตัวตั้ง แล้วประสานขอคำขอกู้เงินจากธ.ก.ส. และการขึ้นบัญชีเป็นเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อมาจับคู่ ถ้าตรงกัน 1 หรือ 2 คู่ก็ปล่อย ถือว่ายังเป็นเกษตรกรที่ได้รับจัดที่ให้ตัวจริง ซึ่งจากจำนวนเกษตรกรที่ส.ป.ก.จัดให้ไปแล้ว 2.6 แสนราย จับคู่ตรงกันประมาณ 60%

ส่วนที่ไม่ตรงจะตามตรวจต่อ โดยเรียกให้นำเอกสารส.ป.ก.4-01 มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพราะถ้าเขาขายไปแล้ว ผู้ซื้อจะต้องยึดเอกสารไว้เพื่อป้องกันปัญหา หากไม่มีมาแสดงส.ป.ก.จะสั่งสิ้นสิทธิและยึดที่คืนทันที การตรวจสอบในกลุ่มนี้อาศัยความเอาใจใส่และเอาจริงเอาจังของพื้นที่

อย่างไรก็ตามเลขาฯส.ป.ก.กล่าวว่า ทางส่วนกลางได้วางกลไกตรวจคู่ขนาน โดยวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศควบคู่ไปด้วย โดยจะมีการตรวจสภาพพื้นที่เป็นระยะ ว่าลักษณะการทำประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ มีลักษณะต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน ถ้าพบพื้นที่ต้องสงสัยจะชี้เป้าให้พื้นที่เข้าตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งกรณีที่ตรวจพบสวนส้มเชียงใหม่ทับที่ส.ป.ก. ได้จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศนี้

ทั้งนี้ การตรวจและชี้เป้าจากภาพถ่านทางอากาศ แรกสุดพบที่ต้องสงสัยถึง 3 หมื่นแปลงที่มีความผิดปกติ ได้แจ้งจังหวัดเข้าตรวจสอบแล้วได้ประมาณครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งยังไม่ได้ทำ โดยทางส.ป.ก.เรียกกลับมาทำใหม่ ให้แยกเป็นสองส่วน ส่วนที่ต่อเนื่องเป็นผืนน้อยกว่า 100 ไร่ เข้ากระบวนการตรวจสอบปกติ ถ้าเกิน 100 ไร่ เข้ากระบวนการพิเศษนี้

5 แปลงคดีสิ้นสุดคืบหน้า

ส่วนกลุ่มที่ 3 คือที่ส.ป.ก.แปลงใหญ่เกิน 500 ไร่ ที่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาลจนเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น ตามคำสั่งนี้ให้บังคับคดีตามป.วิแพ่งปกติต่อไป เพื่อไม่เป็นการไปก้าวล่วงหรือละเมิดอำนาจศาล และมีความคืบหน้าในการดำเนินการของส.ป.ก.เช่นกัน

โดยนายสรรเสริญแจกแจงว่า เป็นกลุ่มที่ส.ป.ก.ชนะคดีแล้วหลังจากต่อสู้คดีกันมายาวนาน มีรวม 5 แปลง คือ แปลงของพล.ต.ท.ชาลี เภกะนันทน์ เนื้อที่ 535 ไร่เศษ ที่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อเจ้าหน้าที่ไปปิดหมายก็คืนให้แล้ว แปลงของนายชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ เนื้อที่ 1,027 ไร่ ที่อ.ปากช่อง เช่นกัน ทายาทก็ไม่ได้ต่อสู้ค้านสิทธิอะไร เช่นเดียวกับรายนายสุทัศน์ ก็คืนแล้วเช่นกัน

ส่วนอีก 2 แปลงใหญ่เวลานี้มีม็อบเข้ายึดหมดแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีมอบนโยบายให้เจรจา ก็อยู่ระหว่างดำเนินการต่อ คือ แปลงที่สวนปาล์มของบ.จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด เนื้อที่ 1,434 ไร่เศษ ที่อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และสวนปาล์มของบ.รวมชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด เนื้อที่ 1,749ไร่เศษ ก็มีปัญหามวลชนลักษณะเดียวกัน

"ถ้าจะทำให้ถูกต้องตามกระบวนการต้องไปฟ้องศาลขอสั่งขับไล่ต่อ ซึ่งต้องใช้เวลาตามกระบวนการอีก 7-10 ปี จึงเปลี่ยนวิธีมาเป็นให้เอาที่แปลงนี้มาอยู่กลุ่ม 1 คือใช้อำนาจตามม.44 ไปปิดประกาศเพื่อยึดมาก่อนเลย ทำให้ชาวบ้านยกบวนมาขอความเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมานโยบายส.ป.ก.จะไม่เจรจา ไม่เช่นนั้นจะเป็นตัวอย่างให้แปลงอื่นทำตามกันทั้งประเทศอีก แต่กรณีนี้กระทรวงให้เจรจาและรับไปดำเนินการเอง"

จากรายงานความคืบหน้าศูนย์ปฏิบัติการฯ ล่าสุด มีแปลงเป้าหมายดำเนินการ 431 แปลง เนื้อที่ 4.371 แสนไร่ มีผู้แจ้งคัดค้านแล้ว 195 แปลง เนื้อที่รวม 2.16 แสนไร่ มีจำนวนผู้คัดค้าน 3,495 ราย เป็นเนื้อที่คัดค้าน 8.646 หมื่นไร่ ไม่คัดค้าน 1 หมื่นไร่เศษ และแปลงที่ไม่คัดค้าน 4 แปลง เนื้อที่อีก 1.35 หมื่นไร่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559