เร่งแผนปั้นรายได้รอบสถานี จ่อเสนอครม.ไฟเขียวเล็งย่านหลักตลอดแนวสายสีแดง

24 ส.ค. 2559 | 03:00 น.
ร.ฟ.ท.ดันแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟสายสีแดง จุดพลุพัฒนาหัวเมืองหลักรอบกทม. ตลอดแนวเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน บางซื่อ-รังสิต และมิสซิ่งลิงค์เชื่อมโยงพื้นที่ในเขตเมืองหลวง "วุฒิชาติ" ยันแปลงใหญ่สถานีกลางบางซื่อเดินหน้าต่อแน่ ส่วนหัวลำโพงยังอนุรักษ์ของเก่าไว้ก่อน ด้านเซียนประเมินที่ดินแนะจับตาโซนรังสิต ดอนเมือง ราชปรารภ หัวหมาก รับแผนพัฒนารถไฟฟ้าของร.ฟ.ท.

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามที่ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และเร่งรัดประมูลสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทางประมาณ 25.9 กิโลเมตร หรือมิสซิ่งลิงค์ ประกอบด้วย 9 สถานี ได้แก่ สถานีสามเสน สถานีราชวิถี สถานียมราช สถานียศเส สถานีหัวลำโพง สถานีพญาไท สถานีมักกะสัน สถานีรามคำแหง และสถานีหัวหมากนั้น พบว่าหลายสถานีมีศักยภาพ สามารถนำมาต่อยอดการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะสถานีดอนเมือง รังสิต ตลิ่งชัน ศาลายา ราชปรารภ และหัวหมาก ตลอดจนสถานีกลางบางซื่อ และหัวลำโพง ล้วนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดมากขึ้นจากปัจจุบัน

ดังนั้น เพื่อให้แผนการพัฒนาสอดคล้องกับการเปิดให้บริการเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงเร่งสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ ในการนำพื้นที่ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้เพิ่ม โดยร.ฟ.ท.เตรียมเสนอรองนายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อจะได้ผลักดันต่อไปภายในเดือนสิงหาคมนี้

"พื้นที่ทั้งหมดที่กล่าวมาอยู่ระหว่างเร่งสรุปผลการศึกษา ทั้งรังสิต หรือหัวหมากและโซนตลิ่งชัน ทุกทำเลล้วนมีผลดีต่อการช่วยกระจายความเจริญของเมืองได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะสถานีหัวหมาก ในเร็ว ๆ นี้จะสามารถเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่แยกลำสาลี สายสีเหลืองที่ถนนศรีนครินทร์ หรือแอร์พอร์ตลิงค์ได้อย่างสะดวกมากขึ้น เรียกว่าจะช่วยกระจายความเจริญไปสู่โซนศรีนครินทร์ได้อย่างมาก เช่นเดียวกับย่านรังสิตจะส่งผลต่อความเจริญย่านโซนเหนือ ส่วนโซนตะวันตกนั้นสถานีตลิ่งชันและศาลายายังมีบทบาทอย่างมากเช่นกัน"

นายวุฒิชาติยังกล่าวถึงความคืบหน้าแผนการพัฒนาสถานีหัวลำโพงว่า ยังเน้นการอนุรักษ์รูปแบบการพัฒนาไว้ ขณะนี้หากร้านค้ารายใดครบกำหนดเช่าพื้นที่จะปรับรื้อตกแต่งให้ดี มีความแข็งแรง เพื่อนำออกประมูลเปิดให้ค้าขายได้ต่อไป จนกว่าจะย้ายไปที่บางซื่อทั้งหมด สำหรับสถานีย่านพหลโยธิน สถานีกลางบางซื่อโดยเฉพาะแปลง D ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งสรุปผลการศึกษา หลังจากนั้นก็จะเร่งนำเสนอกระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันต่อไป

ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จุดดอนเมือง และสถานีอื่น ๆ คงจะพัฒนาอะไรไม่ได้มาก นอกเหนือจากการเปิดร้านค้าบนสถานี ส่วนพื้นที่ด้านล่างสถานี ก็จะให้เปิดประมูลบริหารพื้นที่ใหม่ทั้งหมด โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อให้ทราบว่าแต่ละเส้นทางนั้นจะสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างไร พื้นที่สถานีจะทำอะไรได้บ้าง พื้นที่ระหว่างสถานีบริเวณใดบ้างที่จะประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้ ให้มีการพัฒนาต้นแบบคร่าว ๆ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการให้เอกชนสามารถประมาณการณ์ตัวเลขการลงทุนได้ใกล้ความเป็นจริง นักลงทุนจะสามารถมองผลตอบแทนทางการลงทุนได้ อีกทั้งยังได้กำชับอีกหนึ่งโครงการ ที่ต้องการให้เร่งนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยเร็ว คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ศูนย์พหลโยธิน หรือสถานีกลางบางซื่อ ที่ขณะนี้ผลการศึกษามีความพร้อมมากที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมประมูลใช้ประโยชน์จากที่ดินให้รัฐได้ประโยชน์จริง ๆ "

ด้านนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดิร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า รถไฟสายสีแดงเมื่อก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการ จะมีผลต่อการพัฒนาเมืองในโซนด้านนอกกรุงเทพมหานครได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะพื้นที่รังสิต ที่ศักยภาพและผังการกำหนดกรอบของผังเมือง สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ เช่นเดียวกับสถานีหัวหมากที่จะมีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีส้ม และแอร์พอร์ตลิงค์อำนวยความสะดวกในการเดินทาง

"ศูนย์กลางสำคัญยังอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อและศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ที่จะส่งผลให้สายสีแดงได้รับความสนใจ แม้บางพื้นที่จะมีข้อจำกัดอยู่บ้างก็ตาม ส่วนการพัฒนาพื้นที่รอบนอกสถานี ยังสามารถเพิ่มศักยภาพการพัฒนาได้หลายจุด โดยเฉพาะสถานีราชปรารภ ซึ่งจะเชื่อมกับสายสีส้ม(ตะวันตก) หัวหมาก หัวลำโพง ตลิ่งชัน รวมถึงพื้นที่ย่านหลักสี่ ที่จะเชื่อมกับสายสีชมพู น่าจับตาว่าอาคารพาณิชย์เก่า ๆ ในโซนนั้น จะมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างไร สำหรับรองรับการพัฒนารถไฟและรถไฟฟ้าของร.ฟ.ท."

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559