การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชูอาหารไทยในท้องถิ่นหวังเสริมกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยการเปิดตัวโครงการเสริมสร้างมาตรฐานอาหารถิ่น “สุขใจชวนกิน อาหารถิ่นต้องห้ามพลาด” เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวได้เลือกรับประทานอาหารไทยประจำภาคและอาหารไทยยอดนิยม ที่ปรุงด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นมีรสชาติอร่อยและสะอาดถูกสุขอนามัย
นายยุทธศักดิ์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างมาตรฐานอาหารถิ่น เป็นโครงการฯ ที่ ททท. ได้นำพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่นิยมรับประทานอาหารในท้องถิ่นเมื่อไปเยือนยังสถานที่ต่างๆ ททท. จึงหยิบยกเมนูอาหารท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคมาเป็นอีกหนึ่งสินค้าทางการท่องเที่ยว โดยคัดเลือก 25 เมนู จาก 5 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ได้แก่ ข้าวซอย ขนมจีนน้ำเงี้ยว แกงฮังเล ลาบคั่ว น้ำพริกหนุ่มและไส้อั่ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ซุบหน่อไม้ ไส้กรอกอีสาน แกงอ่อม ลาบเป็ด ไก่ย่าง ภาคกลาง ได้แก่ น้ำพริกกะปิ หลน ปลาดุกผัดเผ็ด แกงฉู่ฉี่ แกงคั่ว ภาคตะวันออก ได้แก่ หมูชะมวง ไก่บ้านต้มระกำ ปลากะพงทอดน้ำปลา เส้นจันท์ผัดปู น้ำพริกไข่ปู และภาคใต้ ได้แก่ แกงส้ม(แกงเหลือง) แกงไตปลา คั่วกลิ้ง ผัดสะตอ น้ำพริกกุ้งเสียบ นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกอีก 6 เมนู ซึ่งเป็นเมนูอาหารไทยยอดนิยมจากโครงการ อะเมสซิ่ง ไทย เทสต์ (Amazing Thai Taste) ได้แก่ ผัดไทย ต้มข่าไก่ ต้มยำกุ้ง แกงมัสมั่น ส้มตำ และแกงเขียวหวาน โดย ททท. จะมอบตราสัญลักษณ์ “สุขใจชวนกิน อาหารถิ่นต้องห้ามพลาด” ให้กับร้านอาหารที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดทั้งวัตถุดิบ รสชาติและความสะอาด เพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นได้ใจว่าจะได้รับประทานอาหารไทยที่มีความอร่อย รสชาติแบบดั้งเดิมและถูกสุขลักษณะ ทั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่ในการดำเนินโครงการไว้ 29 จังหวัด แบ่งเป็น เมนูอาหารท้องถิ่น 5 ภาค ดำเนินการในพื้นที่ “12 เมืองต้องห้าม ... พลาด” และ “12 เมืองต้องห้าม ... พลาดพลัส” รวม 24 จังหวัด ในส่วนของเมนูอาหารไทยยอดนิยมนั้น ดำเนินการใน 5 จังหวัดหลักทางการท่องเที่ยว ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพฯ
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติม ทางสถาบันอาหาร ได้พิจารณาร่วมกับ ททท. ในการแต่งตั้งคณะกรรมการตัดสิน โดยแบ่งออกเป็นคณะกรรมการส่วนกลาง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 7 ท่าน ได้แก่ 1. นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) 2. นางสาวสุนทรีย์ เกตุคง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด และประชาสัมพันธ์ ผู้แทนจากสถาบันอาหาร 3. เชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย ด้านอาหารไทย และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอาหารไทย เอ็ม เอส ซี 4. เชฟสมศักดิ์ รารองคำ นายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย 5. ดร.นฤมล นันทรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านอาหารไทย 6. มล.ภาสันต์ สวัสดิวัฒน์ นักชิมและเซเลบริตี้ด้านอาหาร 7. นายเกริกพล มัสยวาณิช ดารานักชิมที่มีชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับ ตัดสินอาหารไทยยอดนิยม 6 เมนู และคณะกรรมการประจำแต่ละภูมิภาค ภาคละ 1 ชุด รวม 5 ชุด ประกอบด้วยคณะกรรมการ 5 ท่าน ได้แก่ 1. ผู้แทนจาก ททท. 2. ผู้แทนจากสถาบันอาหาร 3. ผู้แทนจากสำนักงานวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัด 4. ผู้แทนสมาคมเชฟประจำภูมิภาค 5. สื่อมวลชนประจำท้องถิ่น พร้อมนักวิชาการจากสถาบันอาหาร ทำการตรวจร้านอาหารในพื้นที่โครงการฯ เพื่อตัดสินอาหารท้องถิ่น โดยเกณฑ์การตัดสินจะพิจารณามาจาก 5 หัวข้อหลัก คือ 1. สุขอนามัยและความปลอดภัย 2. คุณค่าวัตถุดิบท้องถิ่นไทย 3. รสชาติ 4.เนื้อสัมผัส และ 5. การนำเสนออาหาร โดยร้านอาหารที่ผ่านการตัดสินจะได้รับใบรับรองมาตรฐานอาหารจาก ททท. ตุ๊กตาน้องสุขใจ พร้อมสติ๊กเกอร์ตราสัญลักษณ์โครงการฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าร้านดังกล่าวได้รับการคัดเลือกตรงตามมาตรฐานของโครงการเสริมสร้างมาตรฐานอาหารถิ่น “สุขใจชวนกิน อาหารถิ่นต้องห้ามพลาด”
เชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย ด้านอาหารไทย ซึ่งเป็นคณะกรรมการและที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวเสริมว่า อาหารถิ่นในแต่ละพื้นที่จะมีเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่นเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป เพราะอาหาร 1 จานต้องมีองค์ประกอบที่สมดุล ทั้งคุณภาพของวัตถุดิบ รสชาติแบบไทยแท้ดั้งเดิม ความสะอาดในการประกอบอาหาร การเลือกภาชนะใส่อาหาร การจัดวางและตกแต่ง ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้อาหารถิ่นน่ารับประทานและเพิ่มมูลค่าได้ ซึ่งคณะกรรมการจะให้ความสำคัญในทุกอย่าง เพื่อให้ตราสัญลักษณ์ “สุขใจชวนกิน อาหารถิ่นต้องห้ามพลาด” นี้ เป็นเครื่องหมายที่นักท่องเที่ยวสามารถวางใจถึงคุณภาพของอาหารถิ่นได้อย่างแท้จริง
ด้านนายเกริกพล มัสยวาณิช หนึ่งในคณะกรรมการ เผยต่อว่า“ชอบคอนเซ็ปต์นี้ตั้งแต่เชฟชุมพลโทรมาคุย เพราะตัวผมเองทำรายการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ก็ได้มีโอกาสรับประทานอาหารหลากหลายประเทศบางทีไปถ่ายรายการที่ต่างประเทศนานๆ หลายวัน ก็อดที่จะคิดถึงรสชาติอาหารไทยไม่ได้ เพราะอาหารนานาชาติที่ ได้ลอง จะมีส่วนผสมนมเนยเยอะ ทานมากๆ ก็จะเลี่ยน มันต้องมีซักมื้อที่มีอาหารไทยมาคั่น เราเรียกว่ารีเซ็ท (Reset) เพราะอาหารไทยของเรามันมีความจัดจ้าน มีความแซบ ซึ่งโครงการนี้มาช่วยเยอะเพราะเวลาผมไปไหนมาไหนก็แล้วแต่ จะเป็นคนสรรหาเรื่องกิน ก็จะคอยเช็คเสมอว่า จะมีร้านอร่อยที่ไหน ซึ่งเราก็จะคอยสอบถามจากทางเพื่อนๆ เรานี่แหละ ที่นี้ปัญหาคือเพื่อนๆ เราทุกคนมันไม่ใช่นักกิน บางทีร้านที่บอกมาก็ไม่ค่อยอร่อย ผมก็จะเซ็งมาก แต่พอมีโครงการนี้ขึ้นมาและร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย แล้วก็มีพี่คนอื่นๆ ซึ่งเป็นเชฟ รวมทั้งคุณอิ้งค์ และยังมีคณะกรรมการท้องถิ่น มาร่วมตัดสิน ซึ่งอันนี้ผมฟังแล้วชอบมาก คณะกรรมการท้องถิ่นเค้าคือคนพื้นที่เพราะฉะนั้นเค้าจะรู้จริง ว่ารสมันต้องเป็นยังไง พอเป็นแบบนี้เนี่ยมันสบายใจได้ระดับนึง ยิ่งพอมีสถาบันอาหารเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องความสะอาดก็การันตีได้อีก ซึ่งทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น หลังจากนี้เราก็จะมีโอกาสกินของอร่อยในแต่ละพื้นที่ ที่ง่ายมาก เพราะมีตราสัญลักษณ์น้องสุขใจชวนกินจาก ททท. และสถาบันอาหารว่าอาหารรสชาติดีอร่อยถูกปาก และสะอาดถูกหลักอนามัยครับ”
ทั้งนี้ คณะกรรมการ จะเริ่มลงพื้นที่พิจารณาตัดสินอาหารทั้ง 31 เมนู 29 จังหวัด ในเดือน สิงหาคม - กันยายน 2559 ประกาศผลการตัดสินและมอบประกาศนียบัตรในเดือน ตุลาคม 2559 โดย ททท. คาดว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยว ได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่นผ่านอาหารประจำภาคที่มีรสชาติอร่อยแบบดั้งเดิมและปลอดภัย