โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) นอกจากช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและคับคั่งบนถนนที่มีพื้นที่จำกัด และไม่อาจขยายออกไปได้ในเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานครแล้วเมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถลดปริมาณรถยนต์ที่วิ่งจากชานเมืองเข้ามาในเขตใจกลางเมืองได้อย่างมาก
[caption id="attachment_91003" align="aligncenter" width="700"]
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ[/caption]
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแคมีระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 4 สถานี คือ สถานีวัดมังกรกมลาวาส สถานีวังบูรพา สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระบางแค ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 7 สถานี คือ สถานีท่าพระ สถานีบางไผ่ สถานีบางหว้า สถานีเพชรเกษม 48 สถานีภาษีเจริญ สถานีบางแค และสถานีหลักสอง
ส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระมีระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับทั้งหมด มี 8 สถานี คือ สถานีบางโพ สถานีบางอ้อ สถานีบางพลัด สถานีสิรินทร สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีแยกไฟฉาย และสถานีจรัญสนิทวงศ์ เริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ผ่านแยกเตาปูนซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉายและสิ้นสุดที่แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ณ ที่จุดดังกล่าวนี้
แนวเส้นทางเริ่มต้นจากเส้นทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุงผ่านวัดมังกรกมลาวาส ผ่านวังบูรพา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับเข้าสู่สี่แยกท่าพระบรรจบกับช่วงบางซื่อ-ท่าพระแล้ววิ่งไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า ภาษีเจริญ บางแคไปสิ้นสุดที่ถนนกาญจนาภิเษก ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขาบางแค
ใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่เฮฟวี่เรล (Heavy Rail) ที่ให้บริการ MRT ในปัจจุบัน สามารถขนคนได้มากกว่า 5 หมื่นคนต่อชั่วโมง มีศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าอยู่บนพื้นที่ประมาณ 90 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณถนนเพชรเกษมใกล้กับสถานีเพชรเกษม 48 โดยมีอาคารจอดรถ 10 ชั้นรองรับได้ 650 คัน และ 8 ชั้นรองรับได้ 350 คันอยู่ช่วงบริเวณสถานีหลักสอง
ปัจจุบัน( ณ 31 กรกฎาคม 2559) โครงการมีความก้าวหน้า 80.86% โดยช่วงหัวลำโพง-บางแคคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2562 และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2563
นับเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ รฟม.อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างครบวงจรกับเส้นทางรถไฟฟ้า MRT ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันโดยเฉพาะจากพื้นที่ตามแนววงแหวนในเขตชั้นในเมืองออกไปสู่ย่านปริมณฑลโซนกรุงเทพมหานครด้านใต้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น พื้นที่ย่านเจริญกรุง วังบูรพา ปากคลองตลาด หรืออิสรภาพ บางกอกใหญ่คงกลับมาคึกคักกันอีกครั้ง เช่นเดียวกับย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ช่วงบางพลัด บางขุนนนท์ ท่าพระและถนนเพชรเกษมแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มจะเห็นภาพชัดเจนในหลายด้านอีกทั้งน่าจะส่งผลไปได้อีกหลายปี
คงต้องอดใจรออีกสักนิด ปี 2560 รฟม.อยู่ระหว่างการเร่งเปิดให้บริการเชื่อมระหว่างสถานีบางซื่อ-เตาปูนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงินได้อย่างสะดวก ก่อนที่ช่วงอื่นๆ จะเร่งทยอยทดสอบเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559