แจงยิบยกเครื่อง2กม.'มาตรฐานสินค้า'กระจายงานแก้คอขวดเสริมขีดแข่งขัน

07 ก.ย. 2559 | 03:30 น.
ที่ประชุมครม. เมื่อ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติหลักการ 2 ร่างกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า คือ ร่างพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และร่างพ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาก่อนเสนอเข้ากระบวนการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

[caption id="attachment_94565" align="aligncenter" width="335"] ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[/caption]

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจกแจง ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้สามารถปกป้องคุ้มครองประชาชนในฐานะผู้บริโภค ให้ได้รับสินค้าที่มีมาตรฐานและคุณภาพ โดยพัฒนาระบบควบคุมดูแล พร้อมทั้งปรับปรุงระบบการทำงานหน่วยราชการให้กระชับ ลดระยะเวลา และส่งเสริมการส่งออก รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผลักดันยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยสาระสำคัญที่จะเกิดจากการแก้ไขกฎหมายใหม่ ดังนี้ คือ

ฉบับที่ 1 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 มีการเปลี่ยนแปลงใน 5 ด้าน คือ

1.1 ด้านการอนุญาต เดิมต้องดำเนินการโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช. ) เพียงแห่งเดียว มีผู้ยื่นขอตรวจรับรองมาตรฐานจำนวนมาก เกิดคอขวด ใช้เวลารอนาน ต่อไปจะเอื้อให้สนง. สามารถมอบหมายหน่วยงานอื่น เช่น กรมการข้าวดูแลเรื่องคำขอเรื่องข้าว กรมปศุสัตว์ดูเรื่องปศุสัตว์ และสามารถออกใบอนุญาตได้ เกิดความรวดเร็ว

1.2 กำหนดมาตรฐานบังคับและยกเว้นการบังคับ ในอดีตมาตรฐานบังคับใช้บังคับผู้ผลิตฝั่งเดียว ต่อไปจะครอบคลุมถึงทั้งผู้นำเข้า ผู้ส่งออก โดยบางครั้งอาจบังคับมาตรฐานเฉพาะสินค้าส่งออกก็ได้ เช่น มาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ไก่สดเข้าตลาดญี่ปุ่นอาจมีมาตรฐานสูงกว่ามาตรฐาน โดยสามารถออกมาตรฐานบังคับเป็นส่วนๆ ได้ให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม เช่น บังคับมาตรฐานเฉพาะตลาดในประเทศ บางอย่างบังคับเฉพาะสินค้าส่งออก เป็นต้น

1.3 เครื่องหมายรับรอง ในอดีตมี 2 แบบคือ เครื่องหมายบังคับที่ทุกคนต้องมี และเครื่องหมายมาตรฐานโดยสมัครใจ เป็นมาตรฐานที่อยากได้เพิ่มอาจจะเพื่อประโยชน์ทางการตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับ ว่าเป็นสินค้ามีมาตรฐาน ต่อไปเพื่อให้สามารถรับรองเพิ่มเติมได้ เช่น ตรารับรองสินค้าออร์แกนิก ตรารับรองสินค้าฮาลาล เป็นต้น

1.4 การยอมรับสินค้ามาตรฐานจากต่างประเทศ เดิมสินค้านำเข้าทุกชนิดต้องผ่านการตรวจรับรองจากสนง.มาตรฐานของทางการไทยเท่านั้น ทำให้เกิดคอขวดอย่างยิ่ง ต่อไปจะเปิดให้สินค้านำเข้าที่ได้มาตรฐานจากประเทศที่มีมาตรฐานทัดเทียมไทย สามารถนำเข้าโดยไม่ต้องตรวจรับรองใหม่ โดยไม่ต้องมีข้อตกลงระหว่างกัน หรือการเจรจาระหว่างประเทศที่มีการยอมรับและลงนามระหว่าง 2 ประเทศ ส่วนประเทศที่มีมาตรฐานแตกต่าง อาจมอบหมายให้หน่วยงานตรวจสอบของประเทศนั้นตรวจรับรอง ตามมาตรฐานที่ไทยกำหนดแล้วนำเข้าได้เลย ทำให้สินค้านำเข้าไทยสะดวกและช่วยดูแลคุณภาพชีวิตผู้บริโภคคนไทยได้มากขึ้น

1.5 มาตรฐานบังคับกรณีเร่งด่วน เพื่อปกป้องสุขอนามัยประชาชน พืช สัตว์ ภัยพิบัติระหว่างประเทศ กรณีมีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน อาทิ กรณีหวัดนก หรือเหตุปนเปื้อน ให้สามารถออกประกาศกำหนดมาตรฐานเร่งด่วนได้ทันที ไม่ต้องรอประกาศกฎกระทรวง ที่ต้องใช้เวลา สามารถประกาศใช้มาตรฐานทั่วไประหว่างประเทศมาบังคับใช้ได้ทันที ทำให้สมอช. คล่องตัวต่อการตอบสนองกรณีเร่งด่วน

สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคในไทย อำนวยความสะดวกผู้ค้า และเป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารกว่า 20 ล้านคน

ฉบับที่ 2 เพื่อดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มีการเปลี่ยนแปลง 7 ด้าน เพื่อให้การรับรองมาตรฐานสะดวกรวดเร็วขึ้น รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ สินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ มีดผ่าตัด เก้าอี้ทำฟัน ในอดีตใช้เวลาตรวจรับรองนานมาก ต่อไปจะเร็วขึ้น ให้เข้าตลาดไปแข่งขันได้ดีขึ้น ประกอบด้วย

2.1 กรรมการวิชาการที่เดิมต้องให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.)

2.2 การออกประกาศมาตรฐานเดิมต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา มีขั้นตอนมากใช้เวลาเยอะ ขณะนี้ให้รัฐมนตรีประกาศได้เลย ประกาศรับรองมาตรฐานบังคับจะลดเวลาจาก 542 วัน เหลือ 180 วัน หรือจากปีครึ่งเหลือครึ่งปี ตามประเภทสินค้า มาตรฐานทั่วไปจาก 390 วัน ลดเหลือ 150 วัน

2.3 การกำหนดใช้มาตรฐานบังคับสินค้านำเข้า อดีตสินค้าที่นำมาใช้เองไม่ต้องขออนุมัติ เกิดช่องโหว่เป็นปัญหา เช่น นำเข้าวัสดุก่อสร้างบอกนำมาใช้เองในโครงการ ต่อมาแบ่งขาย เช่น คอนโดมิเนียม ทำให้สุดท้ายผู้ซื้ออาจได้ใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงให้ปิดช่องโหว่นี้ โดยสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าต้องขออนุญาตและผ่านมาตรฐานบังคับ จะยกเว้นกรณีเดียวคือนำเข้าเพื่อการทดลองศึกษาวิจัยหรือเป็นตัวอย่าง

2.4 การนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ กฎหมายนี้ให้นำเข้าได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องแจ้งให้ทราบ เพิ่มความสะดวกในการผลิตและส่งออกมากขึ้น

2.5 การโอนใบอนุญาต เดิมมีข้อจำกัดมาก กรณีผู้ขออนุญาตเดิมเสียชีวิต หรือกิจการมีการควบรวม ของใหม่จะให้โอนให้กิจการที่ควบรวมใหม่ หรือให้ทายาทได้เลย

2.6 อายุใบอนุญาต เดิมตรวจอนุญาตแล้วใช้ได้ตลอดไป ของใหม่จะจำกัดเวลาไว้เพียง 5 ปีแล้วต้องยื่นขอใหม่ เพื่อกำกับติดตามให้ได้มาตรฐานต่อเนื่องเช่นที่ขออนุญาตครั้งแรก เพื่อให้มั่นใจว่าจะรักษามาตรฐานไว้เช่นเดิม

2.7 บทลงโทษ ของเดิมกำหนดโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ของใหม่โทษปรับกำหนดขั้นต่ำ 5 หมื่นบาทขึ้นไป และขั้นสูงเป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

ทั้งหมดนี้เพื่อปกป้องประชาชนให้ได้สินค้าที่มีมาตรฐานมีคุณภาพ ไม่มีการปลอมตรามาตรฐาน เช่นที่เกิดบริเวณชายแดน และให้ผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่ยุคที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในระยะ 10 เดือนที่ผ่านมามีการดำเนินคดีนับ 100 ราย มูลค่าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 3.7 พันล้านบาท

Photo : Pixabay ภาพปกไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,189 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559