16 กันยายน 2559 จะเป็นการครบรอบ 5 ปีของโครงการประชานิยม นโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สร้างความฮือฮาแตกตื่นให้กับสังคมไทย อย่างยั้งไม่อยู่ โดยมีเป้าหมายให้คนระดับรากหญ้าจนถึงมนุษย์เงินเดือน สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์คันแรกได้ในราคาที่ถูกลงกว่าปกติ เนื่องจากได้รับการคืนภาษีตั้งแต่ 4 หมื่น- 1 แสนบาทต่อคัน สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชนไทยไม่ใช่น้อย แต่ก็สร้างคราบน้ำตาให้กับคนรากหญ้าที่ผจญกับภาระหนี้สินจากการซื้อรถ ส่งผลกระทบหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ จนเมื่อถือครองครบ 5 ปีนับจากวันรับรถ จึงสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้
[caption id="attachment_97973" align="aligncenter" width="700"]
ครบ 5 ปี รถคันแรก ประชานิยม‘หลอก’ที่ยังตาม‘หลอน’[/caption]
เงื่อนไขห้ามเปลี่ยนมือใน 5 ปี
นโยบายคืนภาษีรถคันแรก มีเงื่อนไขต่างๆมีดังนี้ ผู้ซื้อต้องอายุ 21 ปีขึ้นไป ผู้ซื้อจะต้องไม่เคยซื้อรถยนต์มาก่อน ระยะเวลา จะต้องซื้อตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 - 31 ธันวาคม 2555 ราคารถยนต์นั้นจะต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท รถยนต์ต้องมีเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี (สำหรับรถกระบะจะไม่จำกัด ซีซี) และต้องเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น และเป็นรถใหม่ป้ายแดง และข้อสุดท้าย ห้ามโอนเปลี่ยนมือใน 5 ปี ยกเว้นกรณีรถถูกยึดเนื่องจากไม่ได้ผ่อนต่อไฟแนนซ์สามารถเปลี่ยนมือได้
ต่อเรื่องนี้นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นวันสุดท้ายที่กรมสรรพสามิตเปิดให้ประชาชนมายื่นใช้สิทธิ์คืนภาษีตามนโยบายรถยนต์คันแรกว่า “จากการปิดรับการยื่นเอกสารขอคืนภาษีรถคันแรกของกรมสรรพสามิตทุกจุดให้บริการเวลา 16.30 น. มีประชาชนมาขอใช้สิทธิ์ 1,255,942 คัน คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องคืน 91,061 ล้านบาท โดยผู้มีสิทธิ์จะต้องส่งสำเนาเอกสารภายใน 15 วัน
จากนั้นในปีงบประมาณ 2555 (1 ตุลาคม 2554-30 กันยายน 2555 ) ได้รับการจัดสรรงบ จากรัฐบาล 7,500 ล้านบาท กรมสรรพสามิตได้คืนภาษีให้กับผู้ที่ครอบครองรถครบ 1 ปี ประมาณ 40,000 ราย วงเงิน 3,000 ล้านบาท ยังมีงบฯ เหลืออีก 4,500 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 (1 ตุลาคม 2555-30 กันยายน 2556) ได้รับการจัดสรรงบ 18,000 ล้านบาท แต่ไม่เพียงพอ กรมสรรพสามิตต้องทำเรื่องเสนอกระทรวงการคลังของบกลางอีก 20,000 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2557 (1 ตุลาคม 2556-30 กันยายน 2557) ต้องจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลอีก 30,000-40,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2558 อีกจำนวนหนึ่ง
ชี้กระตุ้นการผลิตยานยนต์
ก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากโครงการรถคันแรกว่า จะเป็นการกระตุ้นการผลิตภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบก่อให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นการบริโภค เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ (Domestic demand)ลดการพึ่งพาการส่งออกที่มีสัดส่วน 75%ของจีดีพี
นอกจากนี้ โครงการรถคันแรก จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวตลอดทั้งโครงการคิดเป็น 0.97% ต่อปี การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนหลายรอบ (Multiplier effect) การใช้จ่ายเงินของรัฐทุกๆ 1 บาท จะมีผลต่อเศรษฐกิจมหภาคเท่ากับ 1.4 บาท ซึ่งจะมีผลทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ และภาษีทะเบียนรถยนต์ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท
รอยยิ้มและคราบน้ำตา
จะเห็นได้ว่า นโยบายคืนภาษีรถคันแรก มีบทบาทในการกระตุ้นกำลังการซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคได้ทันที หลังเศรษฐกิจชะลอตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง เป็นโอกาสสำคัญของคนไทยที่จะได้เป็นเจ้าของรถคันแรกในราคาที่ถูกลง จากการคืนภาษีสูดสุดถึง 1 แสนบาท มีการยืมชื่อสมาชิกคนในครอบครัวมาใช้สิทธิ์ซื้อรถกันอย่างคึกคัก ก่อให้เกิดกระแสฟีเวอร์ไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ชาวบ้าน พนักงานโรงงานก็ใช้สิทธิ์ซื้อรถโดยขาดความยั้งคิดว่า จะมีรายได้ผ่อนส่งค่างวดในแต่ละเดือนเพียงพอหรือไม่ ส่วนหนึ่งคิดแต่ว่า จะได้รับเงินคืนภาษีสูงสุด 1 แสนบาท บางคนผ่อนได้เพียง 3-4 งวดก็ส่งต่อไม่ไหว ปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถคืน โดยไม่ได้คำนึงว่า ยังมีภาระหนี้อีกมากมายซ่อนเร้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาระดอกเบี้ย ภาระหนี้ส่วนเกิน
อีกทั้งกรณีผู้ซื้อรถไปแล้วแต่ไม่สามารถผ่อนต่อได้ จะถูกเรียกเงินภาษีจากรัฐคืนกลับให้กรมสรรพสามิตเท่ากับจำนวนที่ได้รับไป ซึ่งหลายราย นำเงินที่ได้รับคืนภาษีไปใช้หมดแล้ว จึงต้องกู้เงินนอกระบบมาจ่ายเงินคืนกรมสรรพสามิต ทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมาย ส่วนเจ้าของรถที่กัดฟันผ่อนรถต่อไป ก็ไม่สามารถขายเปลี่ยนมือได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขห้ามซื้อขายเปลี่ยนภายใน 5 ปีนับจากวันรับรถ
ชี้หนี้ครัวเรือนพุ่ง
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวสรุปผลจากนโยบายรถคันแรกได้อย่างน่าสนใจว่า โครงการรถคันแรก มีผลดีตรงที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ยอดการผลิตปี 2556 ขยับขึ้นเป็นปีละกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก สำหรับผลเสียนั้น ก่อให้เกิดหนี้ครอบครัว จากการเช่าซื้อรถยนต์ถึง 80 % ของจีดีพี มีการเช่าซื้อรถยนต์สูงเกินล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีให้กำลังการซื้อของผู้บริโภคหดตัวลงทุกประเภทสินค้า
อย่างไรก็ตาม นโยบายรถคันแรก ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 จะครบกำหนดเงื่อนไขห้ามเปลี่ยนมือ ในวันที่16 กันยายน 2559 นี้ ถือว่า ครบ 5 ปีตามเวลาที่กำหนด แต่ก็ ยังไม่ส่งผลโดยตรงกับตลาดรถยนต์มากนัก เนื่องจากช่วงเริ่มนโยบายรถคันแรก ไทยประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ในการประกอบรถยนต์ จึงคาดการณ์ว่า ผู้ใช้สิทธิ์รถคันแรกจำนวนหนึ่ง จะเริ่มขายรถคันเดิมได้ในช่วงกลางปี 2560 และซื้อรถคันใหม่ที่มีเทคโนโลยีมากกว่าเดิม ทำให้ค่ายรถทุกรายจึงเตรียมเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆเพื่อมากระตุ้นกำลังการซื้ออย่างแน่นอน
ศูนย์บริการ-รถมือสองคึกคัก
ขณะที่ทางด้านนายเชาวลิต กาญจนนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น(ไทยแลนด์)จำกัด ศูนย์ประมูลรถยนต์มือสองครบวงจร ธุรกิจในเครือเอ็ม บี เค กรุ๊ป เปิดเผยว่า ธุรกิจประมูลรถยนต์จะมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ซึ่งปัจจัยที่มีผลคือโครงการรถคันแรกที่ทำให้รถเข้ามาในตลาดมากขึ้นและเกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2558 รถยนต์ต่างๆ เริ่มเข้าสู่ระบบน้อยลง โดยประเมินว่าจำนวนรถที่เข้ามาสู่ธุรกิจประมูลลดลงกว่า 30 - 40 %
ขณะที่นายสุดเขต จันทร์เฉลี่ย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอ็มเอ็มเอส บ๊อช คาร์ เซอร์วิส ( MMS Bosch Car Service ) ในเครือ มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากรถคันแรกครบกำหนดถือครอง 5 ปีแล้ว รถที่เข้าร่วมโครงการจริงประมาณ 1.1 ล้านคัน ประมาณ 60 % จะยังคงใช้รถต่อไปและจะเข้าบำรุงรักษาตามศูนย์บริการนอกโชว์รูม เนื่องจากมีโปรโมชัน ส่วนลดจูงใจลูกค้า และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าศูนย์บริการของค่ายรถยนต์
กล่าวสรุปได้ว่าแท้จริงแล้ว นโยบายรถคันแรกเป็นโครงการประชานิยมที่ทำให้บิดเบือนกำลังซื้อในตลาดรถยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการผลิตรวมถึงบรรดาตัวแทนจำหน่าย ก็ไม่ชอบใจนัก! เพราะไม่สามารถกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่แท้จริงได้ ในขณะที่ผู้บริโภคต่างเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนจากการเช่าซื้อรถเพิ่มขึ้น!
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,192 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2559