EPCOฉลุยลงทุน2.6พันล้านรุกโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 360 เมกะวัตต์

23 ก.ย. 2559 | 05:00 น.
ผู้ถือหุ้นโรงพิมพ์ตะวันออก โหวตลงทุน 2 โรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติ กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์ มูลค่า 2.6 พันล้านบาท พร้อมยกเลิกแผนลงทุนโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น 15 เมกะวัตต์ หลังโครงการไม่คืบ ย้ำแผนปี 60 ดัน อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป บริษัทลูก เข้าตลาดหุ้น

[caption id="attachment_100085" align="aligncenter" width="700"] ข้อมูลการเงิน บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก ข้อมูลการเงิน บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก[/caption]

นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน)(บมจ.)หรือ EPCO เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งทางตรงและทางอ้อม ในสัดส่วน 49.50% ของ บริษัท พีพีทีซี จำกัด หรือ PPTC ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ระบบโคเจเนอเรชัน กำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 120 เมกะวัตต์ และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 30 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน PPTC ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ยังได้อนุมัติให้ทำรายการเข้าซื้อหุ้นสามัญทางอ้อม ในสัดส่วน 30% ของบริษัท เอสเอสยูที จำกัด หรือ SSUT ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กระบบโคเจเนอเรชัน กำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 240 เมกะวัตต์ และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 60 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ให้กับ กฟผ.ได้ประมาณเดือนกันยายน 2559

การเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติทั้ง 2 โครงการรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,649.68 ล้านบาท โดยลงทุนผ่านบมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป หรือ EP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ EPCO (ถือหุ้นสัดส่วน 78.06% ) แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ดิสคัฟเวอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) เพื่อให้ความเห็นต่อการเข้าทำรายการ
สำหรับแหล่งเงินที่ใช้ในการลงทุนครั้งนี้ จะมาจากการเพิ่มทุนของ EP จำนวน 750 ล้านบาท รวมถึงการออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัท และ/หรือ EP โดยเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท

นายยุทธ กล่าวอีกว่า การเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมและสร้างการเติบโตของรายได้ที่มั่นคงให้แก่บริษัทในอนาคต ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกำไรและกระแสเงินสดกลับมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว และท้ายที่สุดจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว และจากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติ กำลังการผลิต 360 เมกะวัตต์ครั้งนี้ ส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 425 เมกะวัตต์ ก่อนที่จะนำบริษัทลูกคือ EP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯปี 2560 และตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 600 เมกะวัตต์ ภายในปี 2561

ขณะเดียวกันการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ยังได้อนุมัติยกเลิกแผนการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น จากกำลังการผลิตที่เคยแจ้งไปทั้งหมด 48 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่ขอยกเลิกประกอบด้วย โครงการ Shirakata 1-3 กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 5.336 เมกะวัตต์ และโครงการ Genbi กำลังการผลิตไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 15.336 เมกะวัตต์ เนื่องจากติดปัญหาจากพันธมิตรที่ไม่สามารถจัดหาที่ดินและใบอนุญาตให้ได้ตามสัญญา จึงจำเป็นต้องทำการยกเลิกแผนการลงทุนดังกล่าวไป โดยบริษัท ยังไม่ได้ลงทุนในโครงการดังกล่าวใดๆ ทั้งสิ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559