ปี 2562 ที่หลายธุรกิจมองว่าเป็นปีที่เต็มไปด้วยความผันผวน จากต้นปีที่คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวคึกคักหลังจากที่มีการเลือกตั้ง เรียกความเชื่อมั่น การลงทุนให้กลับคืนมา แต่เมื่อไม่เป็นไปตามคาดหมาย เศรษฐกิจไม่ไหลลื่น และเต็มไปด้วยปัจจัยลบ ทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ ที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ หลายองค์กรพยุงตัวให้อยู่ต่อได้ หากแต่ก็มีองค์กรที่ไม่สามารถไปต่อและต้องยุติกิจการลง แต่ภาพเหล่านี้ ปัจจัยต่างๆ ที่ยังมีอยู่ทั้งเป็นบวกและเป็นลบ จะเป็นอย่างไรต่อไปในปีหน้า และหนทางออกคืออะไร
“ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวม 3 มุมมองของ 3 ผู้นำองค์กร ที่จะมาสะท้อนถึงสถานการณ์ในปี 2563 หรือปี 2020
มองหาเค้กชิ้นใหม่
นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารโครงการ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และไอคอนสยาม กล่าวว่า ปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าระวังคือ ค่าเงินบาท เพราะผ่านมา 3 เดือนส่งผลกระทบ ต่อการท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ทำให้นักท่องเที่ยวลืมว่า ค่าเงินบาทไทยแข็ง แต่หันไปให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะดวกสบายในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศแทน เช่น กระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat refund) ที่ต้องสะดวก รวดเร็วทั้งขั้นตอนต่างๆ และการได้รับเงินคืน ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดตั้งบริษัทขึ้น แต่ระบบไอทีและขั้นตอนต่างๆยังไม่ซัพพอร์ต ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับคืนช้านานหลายเดือน
“แนะนำว่า รัฐบาลควรให้โกลบัล บลู (Global Blue) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดำเนินงานเรื่องของการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในหลายประเทศ เป็นผู้ดำเนินงานเพราะมีความเชี่ยวชาญสูง เพื่อให้นักท่องเที่ยวสะดวกสบาย และได้เงินคืนทันที”
ส่วนขั้นตอนการเข้าประเทศ ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ต้องผ่านพิธีการ ขั้นตอนต่างๆ นานนับชั่วโมง ดังนั้นควรจะมีช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับบิสิเนส เทรเวลเลอร์ ที่ต้องการความรวดเร็ว เช่นเดียวกับฮ่องกง ที่มีการ์ดและช่องทางพิเศษ แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นแต่เชื่อว่าเขายินดีจ่าย เพราะสะดวก รวดเร็ว และรัฐบาลเองก็มีรายได้เพิ่ม
“เชื่อว่าในปี 2563 เป็นปีที่ดี ทุกคนต้องช่วยทำให้ดี สิ่งที่นักธุรกิจกังวลที่สุดคือ เรื่องเศรษฐกิจ ทุกอย่างที่มีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเราต้องเข้าใจว่ามีบางอย่างที่เราควบคุมได้ บางอย่างที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สถานการณ์โลก ฯลฯ เราจึงต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาดูแล หลายๆ เรื่อง เพื่อบรรเทา”
นางชฎาทิพ กล่าวอีกว่า วันนี้รัฐบาลต้องมองหาเค้กชิ้นใหม่ เพราะเค้กชิ้นเก่าคือ นักท่องเที่ยวที่ขึ้นๆ ลงๆ จะหวังพึ่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองหาเค้กชิ้นใหม่ ทำอย่างไรจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) วันนี้โอกาสของประเทศคือ การผลักดันให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลให้การสนับสนุนให้ต่างชาติเลือกประเทศไทยเป็นสำนักงานใหญ่ (Head Quarter) ด้วยจุดแข็งที่มีค่าครองชีพที่ถูกกว่า มี facility มากกว่า และมีสิทธิพิเศษให้เป็นแรงจูงใจ มีวัน สต็อป เซอร์วิส ในการจดทะเบียนบริษัท เป็นต้น
“หากบริษัทชั้นนำย้ายเฮดควอเตอร์มาอยู่ในเมืองไทยจะเกิดทั้งการลงทุน การจ้างงานโลคัล เช่าที่อยู่อาศัย บุตรหลานต้องเข้าโรงเรียน จากการเข้ามาของชาวต่างชาติ”
เกษตร-อสังหาฯ-ท่องเที่ยวน่ากังวล
นายเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการอิสระบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มองว่า GDP ในปี 2563 จะเติบโตราว 2.6% ขณะเดียวกันเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่โตไปมากกว่านี้ และสาเหตุหลักที่เศรษฐกิจไทยไม่โต เพราะประเทศไทยไม่มียุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ อีกทั้งในด้านการส่งออกที่ลดลงมาจากประเทศไทยไม่มีสินค้าที่โลกต้องการหากมองว่าประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม ปัจจุบันทั่วโลกก็มีเหมือนกันหมดและในอนาคตผู้บริโภคจะรับประทานน้อยลง ดังนั้นหากประเทศไทยยังมุ่งเน้นสินค้าเกษตรอยู่ สินค้าส่งออกก็จะลดลงมากกว่าเดิม
ด้านส่งออกที่ลดลง เกิดจากการเน้นผลิตวัตถุดิบที่โลกไม่ต้องการ เช่น ในอดีตเคยผลิตและส่งออกอุปกรณ์มือถือ หรือตลับลูกปืนได้ แต่วันนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปแล้ว หากประเทศไทยยังมุ่งผลิตสินค้าเช่นเดิมกับในอดีตก็จะไม่ตอบโจทย์ที่โลกต้องการ
“ผู้นำต้องหายุทธศาสตร์ที่ชัดเจนให้กับประเทศ รวมถึงเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงออกมาให้ประชาชนรับทราบ เพราะการแก้ไขยุทธศาสตร์ที่ถูกแนวทาง คือต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ตัวเลขการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นวันนี้จริงๆแล้ว ข้อมูลตรงกับความจริงหรือไม่, ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศปัจจุบันนับกลุ่มชายแดนที่ข้ามไปข้ามมาหรือไม่, ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวสูงเกินความจริงหรือไม่เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวที่ไปใช้จ่ายประเทศอื่นอย่างโซนยุโรปหรือเอเชีย ถ้าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวสูงตามที่ข้อมูลกล่าวอ้างทำไมจึงสวนทางกับ GDP”
กำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มที่ยังคงน่ากังวล คือกลุ่มเกษตรกร และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เมื่อเกษตรกรขาดรายได้ ก็ไม่มีเงินจับจ่าย อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแน่นอนคือกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะได้รับผลกระทบก่อนใคร แต่ก็จะฟื้นเร็วเช่นกัน ส่วนกลุ่มที่เป็นมนุษย์เงินเดือนยังไม่มีอะไรน่ากังวล และในปีหน้าหากค่าเงินบาทเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้น่ากังวลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวจะเลือกประเทศอื่นท่องเที่ยวแทน
Big Data ตอบโจทย์ผู้บริโภค
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2563 มองว่ายังทรงตัว ขณะที่กำลังซื้อของคนทั่วโลกลดลง และจะเห็นกลยุทธ์เรื่องของราคามากขึ้น โดยผู้บริโภคจะได้รับอานิสงส์จากการบริโภคสินค้าที่มีราคาถูกลง เนื่องจากภาคเอกชนแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าปลีกบนอี-คอมเมิร์ซ ดังนั้นภาครัฐควรออกนโยบาย หรือโครงการต่างๆ กระตุ้นอารมณ์การจับจ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันในด้านปัจจัยลบ ยังค่อนข้างกังวลกับความมั่นคงทางด้านการเมือง
สำหรับภาพรวมธุรกิจสื่อ นักการตลาด เอเยนซีโฆษณา และสื่อจะเริ่มนำ Big Data มาใช้มากขึ้น รวมทั้งจะเกิดการทำงานร่วมกันเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น เช่น การนำ Data มาใช้ค้นหา Target Group จากนั้นจะนำสินค้าและบริการเข้ามาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่พบทันที ขณะเดียวกันพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ต่อไปจะใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ดังนั้นจะเห็นแพลตฟอร์มต่างๆ ที่แบ่งกลุ่มย่อยมากขึ้น
“ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นผู้บริโภคใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจสื่อโรงภาพยนตร์เติบโต ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายกับการใช้ชีวิต จึงส่งผลให้ธุรกิจ Delivery เติบโตอย่างมาก”
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการจะเริ่มใช้สื่อต่างๆ มาเป็นตัวสร้างการรับรู้สินค้าและบริการให้กับผู้บริโภค จากนั้นจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Mobile Convenience ตอบโจทย์สินค้าและบริการ ขณะที่ในด้านของอสมท เองก็จำเป็นต้องปรับตัว โดยการควบคุมรายได้และต้นทุนให้สมดุลกัน ไม่ขาดทุน
“อสมท จะไม่ลงทุนมากในด้านคอนเทนต์และอุปกรณ์ใหม่ๆ แต่จะมองหาช่องทางใหม่ๆ เช่น สื่อออนไลน์ เป็นต้น พร้อมทั้งจะพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะต่าง มากขึ้น”
หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,535 วันที่ 29 ธันวาคม 2562-1 มกราคม 2563