นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ทาง กระทรวงคมนาคม ยังไม่ได้เสนอ แผนฟื้นฟูการบินไทย เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่ยังไม่แน่ใจว่ากระทรวงการคลัง จะเสนอในส่วนของตัวเองเข้าครม.หรือไม่ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพิ่งจะส่งข้อมูลมาให้กระทรวงคมนาคมเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา(7พ.ค.63)
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ทั้งผมได้ส่งแผนให้ทางสำนักงานนโยบายและแผน(สนข.) ช่วยวิเคราะห์เพื่อแสดงความเห็นในส่วนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งต้องให้เวลาทางสนข.ไปทำการบ้านมาก่อนเพราะการที่เราจะเสนอเรื่องให้รัฐบาลตัดสินใจอะไรออกไป เราต้องมั่นใจในระดับหนึ่งว่าทำไปแล้วการบินไทยจะต้องกลับแข็งแรง ดำเนินธุรกิจโดยที่รัฐไม่เสียหาย ซึ่งหากดูแล้วแผนมีความเป็นไปได้ก็จะนำเสนอครม.พิจารณาโดยเร็วที่สุด
"เบื้องต้นพบว่าแผนปฏิบัติการณ์หรือแอคชั่นแพลน ของแผนฟื้นฟูที่การบินไทยทำส่งมา มีหลายประเด็นยังไม่เคลียร์ และยังมีคำถามว่าจะจัดการกับความเสี่ยงให้หมดไปได้อย่างไร เพื่อให้แน่ใจว่าการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลจะไม่สูญเปล่า"
แอกชัน แพลน เป็นสิ่งสำคัญที่จะเห็นภาพว่าแผนฟื้นฟูที่จะเกิดประสิทธิภาพ มีเคพีไอ มีการวัดผลการทำงาน เพื่อให้บรรลุตามแผนได้จริง
การพิจารณาผมไม่มีอคติ ในเวลานี้ทุกคนควรจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้การบินไทยอยู่รอด นายศักดิ์สยาม กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่เตรียมจะเสนอครม. หลักๆ จะมีแผน 2 ระยะที่จะเกิดขึ้น ระยะเร่งด่วนกระทรวงการคลังจะคํ้าประกันเงินกู้ให้การบินไทย วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้การบินไทยประคองตัวได้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563
ส่วนระยะที่ 2 คือ การฟื้นฟูการบินไทย ให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปอย่างเข้มแข็งและแข่งขันได้ในอนาคต ได้แก่ แผนการเพิ่มทุน 8 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งนำมาใช้หนี้เดิม 5.4 หมื่นล้านบาทที่กู้ไป และอื่นๆ อีกราว 2-3 หมื่นล้านบาท นำมาใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป
การลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง จาก 51.03% ลงเหลือ 49% แผนผ่าตัดใหญ่การบินไทย ทั้งการปรับโครงสร้างองค์กร ที่จะแยกหน่วยธุรกิจของการบินไทยออกมาเป็นบริษัทลูก รวมถึงการลดจำนวนพนักงานที่เบื้องต้นวางไว้อยู่ที่ 30% ในช่วง 3 ปีนี้ (ปี 63-65) หรือราว 6 พันคน จากจำนวนพนักงานปัจจุบันทั้งหมด 2.1 หมื่นคน ใช้งบราว 8 พันล้านบาท