วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่ ร่วมเปิดตัว ร้านค้า Multi-Brand Store สินค้าจากเครือข่ายธุรกิจบิสคลับทั่วไทย สร้างช่องทางจำหน่ายแบบ O2O กระจายทั่วไทยและกลุ่มประเทศแม่โขง-ล้านช้าง พร้อมเปิดตัวร้านค้าไร้แคชเชียร์ นวัตกรรมอนาคตที่พัฒนาโดยนักวิจัยของวิทยาลัยฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ชั้น 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แอร์พอร์ต เชียงใหม่ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ร่วมกับเครือข่ายธุรกิจบิสคลับเชียงใหม่ ร่วมเปิดตัว ร้านค้า Multi-Brand Store โดยมีนายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์โรม จิรานุกรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมผู้บริหารเครือเซ็นทรัลฯ ให้เกียรติเป็นประธานร่วมเปิด
เพื่อให้ผู้ประกอบการ Micro SMEs มาจำหน่ายสินค้าร่วมกันในรูปแบบร้านจำหน่ายสินค้า และนำต้นแบบร้านค้าไร้แคชเชียร์ของวิทยาลัยฯมาทดสอบ เชื่อมโยงสินค้าจากผู้ประกอบการในเครือข่าย Biz Club ทั่วประเทศเข้าสู่ Online Market Place และใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม Live Streaming ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อแนะนำสินค้าสู่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย รวมถึงพัฒนาระบบจัดส่งสินค้าที่เชื่อมโยงกับบริษัทโลจิสติกส์ด่วน สร้างโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
นายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการ "Multi-Brand Store" รูปแบบ O2O เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการสมาชิก BizClub เข้าสู่ตลาดระดับประเทศและระดับสากล โดยความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสมาชิก BizClub จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่แอร์พอร์ต ถือเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาครัฐและเอกชน
โครงการนี้เเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ และได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง จากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ จนกระทบถึงผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มMicro-SMEs
ร้านค้า Multi-Brand Store ดังกล่าว เป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้ผู้ประกอบการ ได้มีช่องทางเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคภายในประเทศ และเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อจำหน่ายไปสู่ต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งสถาบันอุดมศึกษา ผู้ประกอบการเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับการใช้แผนธุรกิจที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้ประกอบการ BizClub ได้อย่างลงตัว
การที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ได้จัดสรรพื้นที่การค้าให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ BizClub ซึ่งทำให้สินค้าจากกลุ่มสมาชิก ที่จำนวนมากเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐานระดับนานาชาติ แต่ที่ผ่านมาขาดโอกาสหรือช่องทางการขาย ได้เข้าถึงผู้ซื้อที่มีศักยภาพของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ต และสาขาอื่น ๆ ในครือ เป็นการช่วยสนับสนุนพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ให้มีทักษะความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ พร้อมก้าวสู่ผู้ประกอบการระดับสากล
ด้านรองศาสตราจารย์โรม จิรานุกรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการ "Multi-Brand Store" โดยมีวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ China Intelligence Center ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง และโครงการวิจัยภายใต้ชุดโครงการการสร้างผู้ประกอบการเชิงดิจิทัล ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานคนไทย 4.0 มีส่วนต่อการให้ความรู้และฝึกอบรมในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติการพัฒนาระบบร้านค้าแบบ O2O เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดสรรนำไปทดลองขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์สู่ต่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากตลาดประเทศจีน ตลาดในประเทศไทย และตลาดอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศ CLMV ตามรูปแบบ Cross-Border E-commerce
รวมถึงการนำเอาร้านค้าต้นแบบไร้แคชเชียร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานคนไทย 4.0 มาจัดแสดง นำเสนอร้านค้ารูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน ร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงในอนาคตจะนำสินค้าของวิสาหกิจชุมชน ที่ผ่านการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือแผนธุรกิจ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาจัดจำหน่าย มิติการพัฒนาสื่อการตลาดผ่านการพัฒนาทักษะการผลิตคอนเทนท์มัลติมีเดีย สร้าง E-catalog เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ มิติการพัฒนาทักษะการขายทันสมัย ได้แก่ การจัดกิจกรรมการขายและแนะนำทักษะการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบ Live Streaming ให้กับผลิตภัณฑ์กลุ่มสมาชิก Biz Club และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายบริเวณพื้นที่ร้านค้า ตลอดจนการทำกิจกรรม Business Matching ดึงดูดผู้ซื้อจากต่างประเทศให้เข้ามาเยี่ยมชมร้านค้า Multi-Brands Store
ความร่วมมือที่เกิดขึ้นของร้านค้า Multi-Brand Store ดังกล่าว นับเป็นต้นแบบความร่วมมือ ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาครัฐ และเอกชน เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาผู้ประกอบการ Micro-SMEs เข้าสู่ตลาดในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแก่ชุมชนท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่
นายเทพทัย สุริยลักษณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจบิสคลับ เชียงใหม่ เผยว่า ร้านค้านี้ถือเป็นต้นแบบการสร้างช่องทางเพื่อจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ Micro-SMEs ไทย ที่มีข้อจำกัดในด้านเงินทุน ไม่สามารถสร้างช่องทางจัดจำหน่ายแบบแบรนด์เดี่ยวบน Market Place หลัก ๆ ได้ การรวมกลุ่มกันในรูปแบบ Multi-Brand store จึงเป็นการร่วมแบ่งปันทรัพยากร รวมถึงสร้างแรงดึงดูดให้กลุ่มลูกค้า สนใจเข้าเยี่ยมชมในพื้นที่ร้านค้าฯ
นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงร้านค้าไร้แคชเชียร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมแนวคิดการค้าปลีกใหม่ที่มี ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.ภัทรพร คูวุฒยากร อาจารย์และนักวิจัยของวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี ที่ได้รับการสนับสนุนทุนศึกษาวิจัยของแผนงานคนไทย4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้สินค้าจากวิสาหกิจชุมชน กลุ่ม OTOP ที่ไม่สามารถเข้ามาเปิดร้านเพื่อจำหน่ายใน Market Place หลัก ๆ สามารถนำสินค้ามาวางจำหน่ายในร้านค้าไร้แคชเชียร์ ซึ่งจะทำหน้าที่คิดคำนวณราคาสินค้าและรับชำระเงินจากผู้ซื้อที่เข้ามาซื้อสินค้าภายในร้านค้าได้โดยอัตโนมัติ โดยผู้ซื้อสามารถชำระเงินผ่านช่องทางกระเป๋าเงินดิจิทัลของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ผ่านแคชเชียร์ดิจิทัลได้โดยตรง ซึ่งในอนาคตร้านค้าไร้แคชเชียร์นี้จะเริ่มนำร่องจัดจำหน่ายสินค้าจากศูนย์วิจัยฯต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนจะขยายไปสู่การจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ OTOP ต่าง ๆ ต่อไป
โครงการร้านค้านี้ไม่เพียงเป็นสถานที่ขายปลีก ยังเป็นที่รวมสำหรับบายเออร์ ที่จะสามารถเข้ามาชมสินค้า รวมทั้งเป็นลักษณะของ DC ในการที่ผู้ประกอบการเองสามารถส่งสินค้าจากที่นี่ไปได้โดยตรง ด้วยทุกช่องทางที่เราทำ เชื่อว่าเป็นโอกาส ในการที่หลาย ๆ ฝ่ายมาร่วมกันเพื่อที่จะผลักดันให้เคลื่อนต่อไป รวมถึงยังช่วยเพิ่มยอดขายที่เชื่อว่าจะไม่ต่ำกว่า 50% แน่นอนจากเดิมก่อนมีโควิด และไม่ได้หวังเพียงตลาดในประเทศ เพราะเชียงใหม่เป็นฮับที่สามารถข้ามไปต่างประเทศได้ โดยเรามีผู้ประกอบการ 37 รายมาร่วม แต่ละรายมีชั้นจัดแสดงสินค้า 1 ชั้น ซึ่งแต่ละรายต้องรับผิดชอบดูแลให้สินค้าหมุนเวียนน่าสนใจ และได้เรียนรู้ร่วมกันด้วย
ขณะที่ดร. ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มช. ในฐานะผู้ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนร้านค้า Multi-Brand store เผยว่า ร้านค้า Multi-Brand นี้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการสร้างร้านค้าตามแนวทาง “การค้าปลีกใหม่” (New Retail O2O) ที่มีการจำหน่ายสินค้าทั้งในระบบออฟไลน์และออนไลน์แบบบูรณาการ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้โดยตรง ที่ร้านจำหน่ายสินค้าภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลฯ ขณะเดียวกันก็สามารถเลือกสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยทางร้านจะมีบริการจัดส่งผ่านช่องทางขนส่งด่วนโดยตรงจากร้านค้าสู่ผู้บริโภคโดยตรง
ศูนย์ CIC ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง จะนำเอาสินค้ากลุ่มเครือข่ายธุรกิจบิสคลับ ที่ผ่านการคัดสรรเพื่อนำขึ้นจำหน่ายบน Online Market Place เพื่อจำหน่ายในตลาดต่างประเทศกลุ่มประเทศแม่โขง-ล้านช้างได้แก่ จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ สร้างโอกาสการขายให้กับกลุ่มสมาชิกบิสคลับ รวมถึงใช้เป็นพื้นที่การทำ Business Matching ดึงดูดผู้ซื้อจากต่างประเทศให้เข้ามาเยี่ยมชมเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายต่อไป
นอกจากนี้ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี จะได้นำเอาหลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการเชิงดิจิทัล ของสาขาการจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อร่วมพัฒนายกระดับผู้ประกอบการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสื่อการนำเสนอขายสินค้าผ่านช่องทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนทักษะการทำคลิปวีดีโอแนะนำสินค้าบน Tiktok หรือบน Youtube ตลอดจนกิจกรรมไลฟ์สตรีมมิ่ง ผ่าน Facebook Live สำหรับการนำเสนอขายกลุ่มลูกค้าภายในประเทศ และการขายผ่านระบบเถาเป่าไลฟ์สตรีมมิ่ง สำหรับนำเสนอขายกลุ่มลูกค้าในประเทศจีน
ปัจจุบันศูนย์ CIC มีระบบการขนส่งด่วนข้ามแดน ที่สามารถส่งตรงสินค้าถึงมือผู้ซื้อปลายทางในประเทศจีนภายหลังมีคำสั่งซื้อ ทั้งนี้หากร้านค้าต้นแบบนี้มีกระแสตอบรับที่ดี ทางศูนย์การค้าเซ็นทรัลฯ และเครือข่ายธุรกิจบิสคลับก็จะขยายไปยังสาขาอื่นๆของกลุ่มเซ็นทรัลต่อไป
นายพรเทพ อรรถกิจไพศาล ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต กล่าวว่า บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งสนับสนุนโครงการ "Multi Brand Store" โดยทางศูนย์การค้าฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ ชุมชน การท่องเที่ยว จึงได้ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการ Micro SMEs ในจังหวัดเชียงใหม่ ให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น
ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต มีความตั้งใจอย่างเต็มที่ในการสร้างสรรค์กิจกรรม สร้างมิติใหม่ๆในการใช้ชีวิตเพื่อให้ตอบกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคใหม่ รวมไปถึงการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆจากภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดนอกจากจะเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิต หรือ Center of Life แล้วนั้น เรายังมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับเมืองของเรา ให้กลายเป็น Destination ที่สำคัญของประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ