สกสว.ผนึกสำนักงานสถิติฯ เร่งทำดาต้า ซิตี้สู่เมืองอัจฉริยะ

26 พ.ค. 2563 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2563 | 11:50 น.

สกสว.ดึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เร่งสร้างข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เจาะลึกถึงระดับเทศบาลตำบล หมู่บ้าน เพื่อยกเศรษฐกิจระดับเมืองสู่สมาร์ทซิตี้ทั่วประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมกรรม (สกสว.) ดำเนินแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ ทั้งนี้ ได้เร่งจัดทำข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (city data/open data) โดยนำมาอ้างอิงร่วมกับข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เพื่อสะท้อนถึงศักยภาพของการพัฒนาแต่ละเมืองยังมีความแตกต่างกัน หลายเมืองยังต้องเร่งยกระดับศักยภาพการพัฒนาด้านการจัดเก็บข้อมูลของเมืองต่างๆ

ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่จังหวัดที่พัฒนาระบบโปรแกรมจัดเก็บข้อมูลของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพอาทิ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดขอนแก่น ซึ่งทั้งสองจังหวัดนี้มีบริษัทพัฒนาเมือง คือ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด และบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ที่เกิดจากการร่วมมือของภาคเอกชนที่มีจุดมุ่งหมายจะพัฒนาเมืองสู่สมาร์ทซิตี้ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

สกสว.ผนึกสำนักงานสถิติฯ เร่งทำดาต้า ซิตี้สู่เมืองอัจฉริยะ

รศ.ดร.รัฐสิทธิ์  สุขะหุต ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ในฐานะหัวหน้านักวิจัยการจัดทำข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเมือง หรือ open data /city data ในโครงการ การศึกษาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เปิดเผยว่า มช. และสกสว. ได้ใช้ข้อมูลระดับจังหวัดที่สำนักงานสถิติฯเก็บรวบรวมไว้จำนวนมาก 21 สาขา ตามมาตรฐานสากล ซึ่งกระจายอยู่ที่สำนักงานสถิติจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด มาจัดทำเป็นคลังข้อมูลระบบเดียวกัน เพื่อรองรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้ง Open Data และการประมวลผลสารสนเทศ Business Intelligener (BI) ทำให้เห็นข้อมูลรอบด้านชัดเจนในภาพรวมของประเทศ

ปัจจุบันสำนักงานสถิติฯเร่งแผนการจัดทำคลังข้อมูลให้กับบุคลากรในภูมิภาคเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับข้อมูลแต่ละเมือง (จังหวัด) ก่อนขยายผลไปสู่หน่วยงานระดับพื้นที่ให้เก็บรวบรวมข้อมูลจากระดับจังหวัดไปสู่ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านต่อไป

“ปัญหาที่พบคือข้อมูลยังไม่ลงลึกถึงระดับตำบล หมู่บ้าน หรือระดับเทศบาล หากได้ข้อมูลระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เข้ามาเข้าสู่ระบบมากขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังสนองนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายอำนาจหน้าที่ให้กับ อปท. แต่ละท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย”

รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หากมองปริมาณอัตราของเจ้าหน้าที่น่าจะเพียงพอแล้ว ขอเพียงรัฐบาลเพิ่มศักยภาพด้านไอทีการจัดเก็บข้อมูลให้แม่นยำ รวดเร็ว เท่านั้น เช่นเดียวกับการจัดเก็บข้อมูลอาจต้องมีงบประมาณจัดซื้อคลังจัดเก็บข้อมูลให้ได้มากขึ้นภายใต้เทคโนโลยีทันสมัยในปัจจุบัน และแนวทางหนึ่งของการพัฒนาคือการบูรณาการข้อมูลเพื่อยกระดับมาตรฐานข้อมูลของประเทศ