ธปท. ลดดอกเบี้ย ไม่ช่วยอะไร แบงก์รัฐต้องนำร่อง ลดดอกเบี้ยเงินกู้

27 ก.พ. 2567 | 11:08 น.

ธปท. ลดดอกเบี้ย ไม่ช่วยอะไร "เกียรติ สิทธีอมร" แนะแบงก์รัฐนำร่อง ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนต่างดอกเบี้ย (Spread) ช่วยประชาชน ภาคเอกชน หากทำไม่ได้ต้องเปลี่ยน รมต.คลัง

นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับฐานเศรษฐกิจ ถึงกรณี ความเห็นต่างระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยให้มุมมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดมีความเหมาะสมแล้ว

ไม่เช่นนั้นเงินก็จะไหลเข้าออกตามกลไกของตลาด โดยต้องเทียบเคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินสกุลหลักของโลก ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ 

การจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่านี้ ธปท. ต้องนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ไม่ใช่ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ธปท. มีอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเป็นไปตามหลักทฤษฎี และ มีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ช่วยกันออกความคิดเห็น และกำกับดูแลอย่างมีสติ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ต่อข้อถามถึงการแสดงความเห็นผ่านสื่อของ นายกฯ และ ผู้ว่าฯ ธปท. ที่มีลักษณะสวนทางกันนั้น นายเกียรติมองว่า ไม่เป็นคุณกับประเทศ ควรต้องคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นประการสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นคือ สาระที่มีการพูดคุยกัน เพราะอาจเป็นเนื้อหาคนละเรื่องกัน

เห็นได้จากสาระสำคัญของ ผู้ว่าฯ ธปท. ที่พิจารณาในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะเป็นตัวที่กำหนดการไหลเข้า ไหลออกของเงินของประเทศ จึงต้องเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของทุกประเทศในโลก แต่ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและภาคธุรกิจคือ ส่วนต่างดอกเบี้ย (Spread) ระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ ที่มีส่วนต่างอยู่มาก 

ซึ่งส่วนต่างดอกเบี้ย คือตัวกำหนดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และกำหนดภาระของประชาชนทุกคน ปัจจุบันประเทศไทยมีส่วนต่างดอกเบี้ยสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งส่วนต่างดอกเบี้ยของประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ในขณะที่ประเทศจีนมีส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% ประเทศเวียดนามอยู่ที่ 2-3% 

นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย

 

ดังนั้นสิ่งที่ผู้ว่า ธปท. พูด กับสิ่งที่นายกฯพูด ดูจะเป็นคนละเรื่องกัน เพราะหากต้องการลดภาระของประชาชน ควรต้องพูดให้ชัดว่าต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง และต้องเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝาก การพูดถึงเรื่องดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตประชาชน และภาคเอกชนเลย แต่สิ่งที่ต้องพูดให้ชัดเจนคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงเกินไปหรือไม่ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเกินไปหรือไม่ จึงจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนและภาคเอกชนลงได้ 

นายเกียรติกล่าวต่อไปว่า ธนาคารในการกำกับของรัฐบาลสามารถนำร่อง สร้างเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark)ขึ้นมาใหม่ได้เลย เพื่อให้ธนาคารอื่นต้องทำตาม ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถทำได้ โดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ ไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว โดยต้องมีการพูดคุยกันและทำอย่างเป็นระบบ 

 

นายเกียรติแสดงความเห็นว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ตนไม่ได้มองว่าธนาคารเป็นจำเลย เช่นเดียวกันกับกรณีที่น้ำมันแพงก็ไม่ได้มองบริษัทเป็นจำเลย แต่เห็นว่าฝ่ายกำกับต่างหากที่เป็นจำเลย 

ซึ่งกรณีของดอกเบี้ย ผู้กำกับไม่ได้มีเพียง ธปท. เท่านั้น เพราะบอร์ดกำกับธนาคารในการดูแลของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารออมสิน , ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สามารถนำร่องในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นได้ เพื่อลดภาระของประชาชน และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของภาคเอกชน แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง