ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้8พ.ค. “อ่อนค่าเล็กน้อย” ที่ระดับ 36.97 บาทต่อดอลลาร์

08 พ.ค. 2567 | 01:01 น.

ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าค่อยเป็นค่อยไป เหตผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ และ นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยในช่วงนี้เพิ่มเติมจะช่วยลดทอนผลกระทบจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลบ้าง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้8พ.ค. 2567ที่ระดับ  36.97 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.89 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบุลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง   

โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำ และน้ำมันดิบ ต่างก็ทยอยปรับตัวลดลงเข้าสู่โซนแนวรับในระยะสั้น

 

 อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ (หากอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว ก็อาจติดแถวโซน 37.10 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน)

 นอกจากนี้ เราคงมองว่า นักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยในช่วงนี้เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยลดทอนผลกระทบจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล ได้บ้าง

อนึ่ง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) ในช่วงเวลาราว 14.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่แม้ว่าในอดีต ตลาดอาจไม่ได้ตามผลการประชุม Riksbank มากนัก แต่ในรอบนี้ หาก Riksbank ลดดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจกดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป และยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.10 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.79-36.97 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนหลักมาจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งล่าสุดได้อ่อนค่าแตะระดับ 154.7 เยนต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังขาดปัจจัยหนุนในช่วงนี้ ตามความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลงบ้าง ส่วนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็ทำให้ราคาทองคำ (Spot Gold) ยังคงแกว่งตัวแถวโซนแนวรับ 2,315 ดอลลาร์ต่อออนซ์

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้าที่อาจกลับมากดดันบรรยากาศในตลาดได้ หากออกมาสูงกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia -1.7% หลังมีข่าวว่าทาง Apple +0.4% เตรียมผลิตชิพเพื่อใช้งานด้าน AI ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.13%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นกว่า +1.14% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ Infineon Tech. +12.9%, UBS +7.6% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากความหวังแนวโน้มบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะฝั่งยุโรปจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงไตรมาส 2-3

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 4.46% หลังปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 4.50% เล็กน้อย ตามการทยอยคลายความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ส่วนราคาน้ำมันดิบก็ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 78-79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาให้ความสนใจภาพความต้องการใช้พลังงานและแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวระดับ 4.50% ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ซึ่ง เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น

โดยเฉพาะหากปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.50% ได้อีกครั้ง (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00% ได้อีกครั้ง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุด กลับมาอ่อนค่าทดสอบโซน 154.8 เยนต่อดอลลาร์

เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างมองว่า ปัจจัยพื้นฐานที่กดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลงยังไม่เปลี่ยน และยังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้าอาจยังคงสูงอยู่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้อีกครั้ง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.4 จุด อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 105-105.4 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ ปัจจัยที่เคยหนุนราคาทองคำ อย่างความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ได้ทยอยคลี่คลายลง ขณะที่เงินดอลลาร์ ก็กลับมาแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ ราคาทองคำ

(สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้าน 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่โซน 2,320 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง

 สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดการณ์ว่า Riksbank อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง -25bps สู่ระดับ 3.75% ได้ ซึ่งการทยอยปรับลดดอกเบี้ยของ Riksbank ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า บรรดาธนาคารกลางฝั่งยุโรปอื่นๆ ก็สามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้เช่นกัน ทำให้สกุลเงินฝั่งยุโรปมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงและช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรอลุ้นรายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันในระยะสั้นได้   

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้พอสมควร

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.96-36.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.06 น.) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทอ่อนค่ากลับมาอีกครั้งตาม sentiment ของค่าเงินเอเชีย นำโดย เงินเยนและเงินหยวน สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งสะท้อนแนวโน้มการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน ประกอบกับน่าจะมีแรงซื้อคืนเพื่อปรับโพสิชั่นในช่วงที่ตลาดรอข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองผู้บริโภค (10 พ.ค.) ดัชนีราคาผู้ผลิต (14 พ.ค.) และดัชนีราคาผู้บริโภค (15 พ.ค.) ด้วยเช่นกัน 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 36.85-37.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ค่าเงินเยนและทางการญี่ปุ่น สัญญาณฟันด์โฟลว์ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูลสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ