ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) ลดความเหลื่อมล้ำ? แต่ทำไมหลายชาติยกเลิก

02 มิ.ย. 2566 | 09:58 น.

การเก็บภาษีความมั่งคั่ง(Wealth Tax) หรือ "ภาษีคนรวย" มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ แต่หลายประเทศที่เคยจัดเก็บก็ยกเลิกแล้ว เพราะปัญหาต้นทุน และประสิทธิภาพในการจัดเก็บ รวมทั้งความเสี่ยงเกิดปัญหาเงินทุนไหลออก

จากกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่เสนอตัวเป็น รมว.คลังในการจัดตั้งรัฐบาล ได้กล่าวถึงแนวคิดการนำ “ภาษีความมั่งคั่ง” หรือ Wealth Tax มาใช้เป็นส่วนหนึ่งแผนบริหารจัดการเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยจะเก็บจากผู้ที่มีสินทรัพย์ (รวมหุ้นที่ถือด้วย) ลบหนี้สิน เกิน 300 ล้านบาท ส่วนที่เกินตั้งแต่บาทแรกจะเก็บ 0.5% มีอยู่ประมาณ 1 แสนรายทั่วประเทศ เรื่องนี้เพียงเกริ่นกล่าว ก็มีทั้งเสียงขานรับและคัดค้าน มีบทเรียนความสำเร็จ-ความล้มเหลวจากการนำมาใช้ในประเทศไหนแล้วบ้าง

ย้อนกลับไปเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มีจำนวนถึง 12 ประเทศมีการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประเทศจำนวนมาก อาทิ ออสเตรีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และสวีเดน กลับตัดสินใจยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าว โดยปัจจุบันเหลือเพียง 5 ประเทศ (ใน OECD) เท่านั้นที่ยังจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง คือโคลอมเบีย ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สเปน และสวิตเซอร์แลนด์

เรามาทำความรู้จัก “ภาษีความมั่งคั่ง” หรือที่บางคนเรียก “ภาษีคนรวย” ว่าเป็นอย่างไร

การตัดสินใจยกเลิกการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งมีสาเหตุสำคัญคือ ปัญหาด้านต้นทุนและประสิทธิภาพในการจัดเก็บ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินทุนไหลออกนอกประเทศ โดยเฉพาะประชาชนผู้มั่งคั่งซึ่งมีทางเลือกที่จะซุกซ่อนสินทรัพย์ไว้ในประเทศปลอดภาษี

ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ด้านการกระจายรายได้ อีกทั้งยังเผชิญกับสารพัดเทคนิคการเลี่ยงภาษี ประกอบกับต้นทุนในการบริหารจัดการที่สูงลิ่วแต่กลับสร้างรายได้เพียงน้อยนิดคืนกลับสู่คลัง รวมทั้งตัวเลขรายได้ภาษียังไม่เติบโตตามความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุนกลับสร้างรายได้และมีประสิทธิผลสูงกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลนานาประเทศ ต้องพยายามหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม การเก็บภาษีความมั่งคั่งก็มักจะเป็นทางเลือกข้อเสนอที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ยิ่งในสถานการณ์ที่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น เราอาจต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ผ่านบทเรียนของประเทศที่เคยตัดสินใจเก็บภาษีดังกล่าวมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น

สวิตเซอร์แลนด์ เริ่มเก็บภาษีความมั่งคั่งมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยถือหลักการว่า สินทรัพย์ "ทุกประเภท"อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีความมั่งคั่งหมด ทั้งเงินฝาก หุ้นทั้งในบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาด และบริษัทส่วนตัว อสังหาริมทรัพย์ งานศิลปะ เครื่องประดับมีค่า รถยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ มียกเว้นให้สำหรับอุปกรณ์ของใช้และเครื่องไฟฟ้าในบ้าน และเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุงาน โดยเสียภาษีในอัตรา 0.5-0.8% ขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐ

ฝรั่งเศส เรียกภาษีนี้ว่า ISF เริ่มเก็บในปีค.ศ. 1989 โดยเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า 0.5 ถึง 1.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน ชำระเป็นรายปี มีผู้เข้าข่ายเสียภาษีนี้ราว 350,000 ครัวเรือน ต่อมาในปี 2018 เมื่อประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง เข้ามาดำรงตำแหน่ง พิจารณาเห็นว่าครอบคลุมเป็นวงกว้างเกินไป ไม่จูงใจให้คนมั่งคั่งเป็นประชากรฝรั่งเศส จึงมีการปรับข้อกำหนด ทำให้ปัจจุบันนี้มีเพียง 100,000 ครัวเรือนในฝรั่งเศสที่เข้าข่ายต้องชำระภาษีประเภทนี้

นอร์เวย์  เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่าเก็บภาษีแพงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพื่อแลกมากับสวัสดิการสาธารณะและคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ล่าสุด หลังรัฐบาลนอร์เวย์มีมติขึ้นภาษีความมั่งคั่ง หรือภาษีคนรวย เมื่อเดือน พ.ย. 2565 ก็ทำให้มหาเศรษฐีในประเทศพากันย้ายออกมากเป็นประวัติการณ์ โดยย้ายไปอยู่ประเทศที่เก็บภาษีต่ำกว่าแทน

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของนอร์เวย์ Dagens Naeringsliv รายงานว่า มีมหาเศรษฐีชาวนอร์เวย์มากกว่า 30 คนย้ายออกจากประเทศในปีที่ผ่านมา (2565) ตัวเลขดังกล่าว ถือว่ามากกว่าจำนวนคนรวยทั้งหมดที่เดินทางออกจากประเทศในช่วง 13 ปีที่ผ่านมารวมกันเสียอีก และคาดว่าในปีนี้ (2566) ยังคงจะมีมหาเศรษฐีอีกจำนวนมากที่จะออกจากนอร์เวย์เนื่องจากการขึ้นภาษีความมั่งคั่ง ทำให้คาดว่ารัฐบาลน่าจะสูญเสียรายรับจากเงินภาษีไปมหาศาล

ตามกฎหมายนอร์เวย์ เศรษฐีที่ร่ำรวยจะต้องเสียภาษีความมั่งคั่ง 2 ต่อ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับรัฐ ประกอบด้วยภาษีเทศบาล 0.7% สำหรับสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเกิน 1.7 ล้านโครน (5.5 ล้านบาท) สำหรับบุคคลธรรมดา หรือ 3.4 ล้านโครน (11 ล้านบาท) สำหรับผู้ที่มีคู่สมรส

นอกจากนี้ ยังมีอัตราภาษีความมั่งคั่งในระดับรัฐอีก 0.3% สำหรับสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากกว่า 1.7 ล้านโครน และได้เพิ่มอัตราภาษีความมั่งคั่งของรัฐเป็น 0.4% สำหรับสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านโครน (65 ล้านบาท) สำหรับบุคคลธรรมดา และ 40 ล้านโครน (131 ล้านบาท) สำหรับคู่รัก ทำให้เศรษฐีอาจต้องเสียภาษีความมั่งคั่งสูงสุดที่ 1.1%

ข่าวระบุว่า มหาเศรษฐีนอร์เวย์หลายคนเลือกที่จะย้ายไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเรียกเก็บภาษีคนรวยน้อยกว่า หนึ่งในนั้น ที่เป็นกรณีตัวอย่างคือ นายเชลล์ อินเก ร็อกเก มหาเศรษฐีวัย 64 ปี อดีตชาวประมงที่ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรมจนประสบความสำเร็จ ปัจจุบัน เขาย้ายไปอยู่ที่เมืองลูกาโนของสวิตเซอร์แลนด์

ร็อกเกเป็นมหาเศรษฐีร่ำรวยเป็นอันดับ 4 ของนอร์เวย์ มีทรัพย์สินประมาณ 1.96 หมื่นล้านโครน (6.4 หมื่นล้านบาท) เขากล่าวว่า “ผมเลือกลูกาโนเป็นที่พักอาศัยใหม่ของผม มันไม่ใช่ที่ที่ถูกที่สุดหรือเก็บภาษีที่ต่ำที่สุด แต่เป็นสถานที่ที่ดีเยี่ยมในทำเลใจกลางเมืองของยุโรป”

การย้ายประเทศของร็อกเกจะทำให้นอร์เวย์สูญเสียรายได้จากภาษีไปประมาณ 175 ล้านโครน (ราว 573 ล้านบาท) ต่อปี สื่อ Dagens Næringsliv คำนวณว่า นับตั้งแต่ปี 2008 เขาจ่ายภาษีไปแล้วประมาณ 1.5 พันล้านโครน (4.9 พันล้านบาท)

นายเออร์เลนด์ กริมสตัด รัฐมนตรีกระทรวงการคลังนอร์เวย์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับกระแสการโยกย้ายถิ่นฐานของบรรดามหาเศรษฐีออกจากนอร์เวย์ว่า

“หากคุณประสบความสำเร็จและร่ำรวยในนอร์เวย์ เราหวังว่าคุณจะอยู่และมีส่วนร่วมในสังคมนอร์เวย์ต่อไป เราสนับสนุนให้ชาวนอร์เวย์ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานะและความร่ำรวย และเราเชื่อว่ารูปแบบของนอร์เวย์ที่มีระบบสวัสดิการสาธารณะที่แข็งแกร่งและระดับการศึกษาสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากวิทยาลัยธุรกิจนอร์เวย์ มีการประเมินว่า เศรษฐีที่ย้ายออกจากนอร์เวย์ไปนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 6 แสนล้านโครน หรือกว่า 1.96 ล้านล้านบาท

สหราชอาณาจักร หลังจากเกิดวิกฤติโควิด -19 มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา คือ The Wealth Tax Commission ทำการศึกษาเสร็จแล้ว และมีข้อเสนอแนะว่า สหราชอาณาจักรควรจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งแบบครั้งเดียว เพื่อให้ได้รายได้มาก ด้วยวิธีที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ ยากที่จะหลีกเลี่ยง และได้ผลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่มากเกินไป

โดยเสนอให้เก็บจากประชากรทั้งหมด และเก็บบนสินทรัพย์ทุกประเภท เช่นเดียวกับสวิตเซอร์แลนด์ โดยใช้ราคาตลาดของสินทรัพย์นั้นๆ และยอมให้ทยอยจ่ายภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าสินทรัพย์ส่วนที่เกิน 500,000 ปอนด์ต่อคน (ประมาณ 22 ล้านบาท) โดยเสนอระยะเวลาจ่ายเป็น 5 ปี ปีละ 1%

ผู้ศึกษาคาดว่า หากเก็บในส่วนที่เกิน 500,000 ปอนด์ต่อคนในช่วง 5 ปี รัฐจะมีรายได้เพิ่ม 260,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 11.44 ล้านล้านบาท) และหากเริ่มเก็บที่ความมั่งคั่งสูงกว่า 2 ล้านปอนด์ต่อคน (ประมาณ 88 ล้านบาท) รัฐจะมีรายได้เพิ่ม 80,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3.52 ล้านล้านบาท) ในช่วง 5 ปี

คณะทำงานระบุว่า หากไม่เก็บภาษีความมั่งคั่ง ทางเลือกอื่นเพื่อที่จะให้ได้รายได้ใกล้เคียงกันใน 5 ปี คือ เพิ่มอัตราภาษีเงินได้ขั้นต้น จาก 20% เป็น 29% หรือ เพิ่มอัตราภาษีเงินได้ทุกประเภทอย่างน้อย 6% หรือ ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 20% เป็น 26% หรือ เพิ่มภาษีเงินได้นิติบุคคล 5% และเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 4%

สหรัฐอเมริกา เรียกว่า “ภาษีเงินได้ขั้นต่ำของเศรษฐีพันล้าน” (Billionaire minimum income tax)

สหรัฐอเมริกา เรียกว่า “ภาษีเงินได้ขั้นต่ำของเศรษฐีพันล้าน” (Billionaire minimum income tax) ณ ปัจจุบัน มีการเสนอให้เก็บภาษีในอัตราขั้นต่ำ 20% สำหรับครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,300 ล้านบาท) โดยคำนวณความมั่งคั่งด้วยมูลค่าตลาด และเรียกเก็บภาษีเป็นรายปี ซึ่งรูปแบบนี้จะคล้ายกับประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส

มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเสียภาษีในอัตราที่แท้จริงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะใช้วิธีกู้เงินมาลงทุนโดยเอาสินทรัพย์เป็นหลักประกัน และอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายก็ต่ำมากๆ เมื่อได้กำไรมาหักดอกเบี้ยแล้วก็ยังเหลือมาก

คนอเมริกันอาจจะเคยชินกับภาษีอสังหาริมทรัพย์ หรือภาษีที่เก็บจากรายได้กรณีมีกำไรจากการลงทุน แต่ไม่เคยชินกับภาษีที่เรียกเก็บบนกำไรจากมูลค่าการลงทุนที่ถืออยู่โดยที่ยังไม่ได้ขาย คือเป็นเพียงกำไรที่คำนวณได้ว่า หากขาย ณ จุดนั้นๆ จะมีมูลค่าเท่าใด เช่นเดียวกับการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม นอกจากนี้ ยังจะเก็บจากของสะสมมูลค่าสูง เช่น งานศิลปะ ฯลฯ

คาดว่าหากมีการบังคับเรียกเก็บภาษีนี้ รัฐจะได้ภาษีเพิ่ม 215,000 ถึง 360,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.2 ถึง 12.0 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

สิงคโปร์ ใกล้ไทยเข้ามาอีกนิด นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีคลังของสิงคโปร์ เปิดเผยว่า เมื่อต้นปี 2565 สิงคโปร์อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่งเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้มีรายได้สูงในประเทศ หลังจากที่เพิ่งประกาศจะขึ้นภาษีที่อยู่อาศัยในกรณีที่เจ้าของไม่ได้พักอาศัยอยู่เองจาก 10-20% เป็น 11-27% ในปี 2023 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 12-36% ในปี 2024 รวมถึงการจัดเก็บภาษีรถยนต์หรูให้สูงขึ้นด้วย

รมว.คลังสิงคโปร์ ระบุว่า แผนการจัดเก็บภาษีจากบรรดาเศรษฐีเพิ่มเติมนี้ อาจรวมถึงภาษีกำไรจากเงินลงทุน เงินปันผล และความมั่งคั่งประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ดีขายอมรับว่าแนวคิดดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงลบกับสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการบริหารจัดการความมั่งคั่งของโลก เนื่องจากกลุ่มคนมั่งคั่งที่จะได้รับผลกระทบจากฐานภาษีใหม่อาจถ่ายเทความมั่งคั่งของตัวเองออกไปยังประเทศอื่นที่เก็บภาษีต่ำกว่า

“เรากำลังพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งถือเป็นความท้าทาย เพราะเราอาจสูญเสียทรัพย์สินและธุรกรรมการเงินของกลุ่มผู้มั่งคั่งในสิงคโปร์ออกไปให้ประเทศอื่น” หว่องกล่าว และว่า

กระทรวงการคลังสิงคโปร์ประเมินว่า การขึ้นภาษีที่อยู่อาศัยและรถยนต์หรูของสิงคโปร์เมื่อเดือนก.พ.2565 จะส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษีในประเทศราว 1.2% ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้รัฐบาลสิงคโปร์มีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นราว 170 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี

รัฐมนตรีคลังสิงคโปร์ระบุว่า การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่อย่างใด ที่ผ่านมาหลายประเทศได้บังคับเก็บภาษีความมั่งคั่งประเภทต่างๆ จากกลุ่มผู้มีรายได้สูงมาแล้ว แต่ปัญหาที่ทุกประเทศต้องเจอจากนโยบายภาษีดังกล่าว คือการไหลออกของเงินทุนของบรรดาเศรษฐีที่ได้รับผลกระทบนั่นเอง

โดยสรุป