สำนักข่าว XINHUA รายงานจากนครหลวงเวียงจันทน์ในวันที่ 21 มี.ค. 2567ว่า นายทองลุน สีสุลิด ประธานาธิบดีลาว ออกรัฐบัญญัติที่กำหนดการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 เพื่อสนับสนุนงบประมาณรายรับ และเกื้อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ซินหัวรายงานระบุว่า รัฐบัญญัติประธานาธิบดีข้างต้น ฉบับออกวันอังคาร (19 มี.ค.) มีเป้าหมายปรับปรุงความสามารถจัดเก็บงบประมาณรายรับ เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินที่ลาวต้องเผชิญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 10 จะถูกบังคับใช้กับการทำธุรกรรมต่างๆ อาทิ การนำเข้า สินค้า การบริการทั่วไป การนำเข้าแร่ธาตุ และการใช้ไฟฟ้า โดยการปรับขึ้นครั้งนี้ส่งผลให้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มคืนสู่ระดับเดิมของปี 2010-2021
อนึ่ง ลาวปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2022 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
ด้าน เว็บไซต์สำนักข่าว Laotian Times รายงานเมื่อ 20 มี.ค.67 ระบุว่า ทางการลาวประกาศปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ โดยจะปรับขึ้น VAT กับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การนำเข้า-ส่งออกสินค้า แร่ธาตุ การให้บริการทั่วไป และการให้บริการไฟฟ้า ซึ่งจะเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้า และผู้จำหน่ายพลังงานไฟฟ้า
ทั้งนี้ ประชาชนลาวห่วงกังวลกับการปรับขึ้น VAT ในห้วงที่ราคาสินค้าและบริการ อัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพในลาวเพิ่มสูง ขณะที่มีรายได้เท่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโอกาสและคุณภาพชีวิตของประชาชน
ก่อนหน้านี้ธนาคารโลก แนะนำว่า สปป.ลาว ควรปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) พร้อมทั้งขึ้นภาษีบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะจัดการกับภาวะเงินเฟ้อสูง และการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบ อีกทั้งรัฐบาลควรใช้จ่ายเงินมากขึ้นในด้านการดูแลสุขภาพ และการศึกษา เพื่อวางรากฐานสำหรับการพัฒนาในอนาคต
คำแนะนำเรื่องภาษีของธนาคารโลกส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันของ สปป.ลาว ทั้งเรื่องที่ต้องต่อสู้กับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การลงทุนจากต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และหนี้สาธารณะที่อาจพุ่งสูงถึง 125% ของ GDP ในปีนี้
โดยหนี้จำนวนมหาศาลที่สูงถึง 1.87 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2565 ได้ทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ และชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ปริมาณหนี้มากกว่าครึ่งเป็นของจีนที่ช่วย สปป.ลาว สร้างเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลาง ลาว-จีน มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) รวมถึงการลงทุนอื่น ๆ ของจีนอีกด้วย ทั้งการสร้างถนน และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหลายโครงการ
ในปีที่ผ่านมา เงินกีบของลาวอ่อนค่า 29% เมื่อเทียบกับเงินบาทของไทย และ 21% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จำเป็นในการชำระหนี้ และการให้เงินทุนในโครงการพัฒนาต่าง ๆ
และในช่วงปลายปี 2566 ประธานประเทศแห่งสปป.ลาว นายทองลุน สีสุลิด ได้ออกคำสั่งกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตให้สูงขึ้นสำหรับสินค้าบางประเภท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อลดการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ
คำสั่งประธานาธิบดีซึ่งออกเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ได้ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตสำหรับรถจี๊ปและรถเก๋งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำอัดลมและสล็อตแมชชีน เครื่องเล่นเกม และอุปกรณ์การพนันทุกประเภทที่ต้องมีใบอนุญาต
อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่สำหรับรถจี๊ปและรถซีดานที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดตามขนาดเครื่องยนต์ ดังนี้
สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ยกเว้นเบียร์) ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า 23% จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 110% เครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 10-23% จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 90% และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่ถึง 10% จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตเพิ่มเป็น 72%
ปัจจุบันอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 5% จะเป็น 70% ในขณะที่เบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 0.5-5% จะต้องเสียภาษี 60%
ภาษีสรรพสามิตบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 72% และภาษีผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ เพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 47% เครื่องดื่มที่ผ่านกระบวนการ เช่น น้ำอัดลมและโซดา จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 12% ในขณะที่ภาษีเครื่องดื่มชูกำลังจะเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 17%
คำสั่งประธานาธิบดียังกำหนดภาษีสรรพสามิตที่สูงขึ้นสำหรับเครื่องสล็อต เครื่องเกมทุกประเภท และอุปกรณ์การพนันทุกประเภทที่ต้องได้รับอนุญาต โดยเพิ่มจาก 35% เป็น 50%
เช่น เดียวกันกับภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกบวกเข้ากับราคาของผลิตภัณฑ์หรือบริการในแต่ละขั้นตอนของการผลิต ซึ่งการปรับเพิ่มจาก 7% เป็น 10% และการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขึ้นภาษีสรรพสามิตจะช่วยให้การเงินของรัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น
ที่มา : Xinhua , สำนักข่าว Laotian Times