ออมสินผนึก BAM จัดตั้ง AMC ซื้อหนี้ เฟสแรก7หมื่นล้าน

17 เม.ย. 2567 | 08:55 น.

ออมสิน จ่อเปิดตัวบริษัทบริหารสินทรัพย์ “JV AMC” ผนึก “BAM” ร่วมลงทุน 50 ต่อ 50 ใช้ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ระบุเฟสแรกนำร่องโอนหนี้เสียลูกหนี้ออมสิน 7 หมื่นล้านบาท จากหนี้เสียแบงก์รัฐทั้งระบบ 2.5 แสนล้าน

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ออกหลักเกณฑ์ส่งเสริมการร่วมลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) หรือเรียกว่า JVAMC

การออกมาตรการ JVAMC ชั่วคราวมา เพื่อบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพในกลุ่ม SFIs โดยการรับซื้อ-โอนหนี้ในกลุ่มรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยกำหนดให้มีการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างน้อย 1 ครั้งในการปรับโครงสร้างหนี้และการเข้าถึงสินเชื่อในระยะต่อไป ทั้งนี้ กำหนดให้ SFIs และ AMC สามารถยื่นขอจดทะเบียนการร่วมทุนได้ภายใน 31 ธันวาคม 2567 และบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะต้องเคลียร์หนี้ด้อยคุณภาพให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 15 ปี

ล่าสุดนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า เร็วๆนี้ ออมสินจะแถลงข่าวเปิดตัวการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (Joint Venture Asset Management Company : JV AMC) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยออมสินได้ร่วมทุนกับ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ทั้งนี้ หลังจากเปิดตัวบริษัทดังกล่าว จะยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที เนื่องจากเป็นการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ และจะต้องเข้าไปขอใบอนุญาต จึงจะสามารถดำเนินการโอนหนี้ตามกระบวนการได้ ซึ่งในระยะแรกในการดำเนินธุรกิจ จะเริ่มจากการรับโอนหนี้เสียของธนาคารออมสินก่อน และระยะต่อไปจะเปิดกว้างในการบริหารหนี้เสียของสถาบันการเงินของรัฐ

“การจัดตั้ง JV AMC เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเราต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน และการเลือกร่วมทุนกับ BAM เพราะว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ และมีความชำนาญในการบริหารสินทรัพย์โดยเฉพาะ”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดตั้งจัดตั้ง JV AMC ธนาคารออมสินจะดำเนินการร่วมทุนกับ BAM ในสัดส่วน 50 ต่อ 50 มีทุนจดทะเบียนประมาณ 1,000 ล้านบาท โดย JV AMC จะรับซื้อหนี้เสียในกลุ่มรายย่อยและเอสเอ็มอี เพื่อเป็นการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าที่พลาดพลั้งเป็นหนี้เสีย และไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ ถ้าเข้ามาอยู่ใน JV AMC ก็จะช่วยให้คนเหล่านั้นสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ กรณีที่เป็นหนี้เสีย ลูกหนี้จะโดนสถาบันการเงินนำส่งข้อมูลให้บริษัทเครดิต 5 ปี และค้างในระบบของแบงก์อีก 3 ปี รวมเป็นนานถึง 8 ปี แต่หากมีการบริหารจัดการหนี้ด้วยหลักการของ JV AMC จะช่วยลดหนี้ให้ลูกหนี้ได้รวดเร็วขึ้น และจะทำให้ลูกหนี้ถูกปลดออกจากแบล็กลิสต์ของเครดิตบูโร

สำหรับหนี้เสียที่ออมสินจะโอนไปยัง JV AMC คาดว่าจะมีมูลหนี้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้เสียของธนาคารออมสินลดลงจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้วางเป้าหมายการจัดตั้ง JV AMC จะช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้างอยู่กับแบงก์รัฐ ได้ประมาณ 3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 230,000 ล้านบาท

 “การดำเนินการภายใต้ JV AMC จะช่วยให้การปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ของแบงก์รัฐ มีความคล่องตัวและความยืดหยุ่นมากขึ้น และไม่ติดอุปสรรคหลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชี ปรับลดเงินงวดผ่อนชำระง่ายขึ้น ตัดต้นเงิน ตัดจบหนี้ได้เร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย และกลับเข้าสู่ระบบสินเชื่อได้อีกครั้ง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ”

 นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รายงานภาพรวมผลการดำเนินงานระบบสถาบันการเงินของรัฐ ในปี 2566 ว่า NPL ของแบงก์รัฐในเดือนธ.ค.66 หดตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า อยู่ที่ 252,503 ล้านบาท คิดเป็น 3.69% ของสินเชื่อรวม และมีการตั้งสำรอง 314.26% ของ NPL ขณะที่หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ของแบงก์รัฐ ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เป็น 275,568 ล้านบาท คิดเป็น 4.03% ของสินเชื่อรวม

ทั้งนี้ สินเชื่อแบงก์รัฐในช่วงเดือนธ.ค.66 ขยายตัว 3.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.95% จากไตรมาสก่อนหน้า ด้านยอดคงค้างสินเชื่อรวมอยู่ที่ 6.84 ล้านล้านบาท ส่วนเงินรับฝาก ขยายตัว 3.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 3.29% จากไตรมาสก่อนหน้า และมี BIS Ratio อยู่ที่ 14.82% ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงานระยะต่อไป

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,984 วันที่ 18 - 20 เมษายน พ.ศ. 2567