แบงก์กรุงศรีโกยรายได้ค่าธรรมเนียม 6.2 พันล้านบาท

10 พ.ค. 2567 | 07:56 น.

เปิดรายได้ค่าธรรมเนียม 11 แบงก์รวม 4.2 หมื่นล้านบาทเพิ่ม 2.65% พบ BAY นำโด่งพุ่ง 45.7%  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ เศรษฐกิจฟื้นหนุนสินเชื่อโต 3.5% ห่วงหนี้เสีย SMEs -รายย่อย เหตุรายได้ไม่ฟื้น

ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2567 ของธนาคารพาณิชย์ 11 แห่งพบว่า มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิรวม 42,423.01 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1,097.02 ล้านบาทหรือ 2.65% จาก 41,325.99 ล้านบาทเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีอัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นมากสุดถึง 45.72% จาก 4,250 ล้านบาทเป็น 6,193 ล้านบาท

แบงก์กรุงศรีโกยรายได้ค่าธรรมเนียม 6.2 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากพิจารณา ย้อนหลัง 4 ปีจะพบว่า รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของธนาคารพาณิชย์ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีรายได้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 182,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,483 ล้านบาทหรือ 6.09% จากปี 2563 อยู่ที่ 172,033 ล้านบาท ปี 2565 อยู่ที่ 184,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,088 ล้านบาทหรือ 1.14% ล่าสุดปี 2566 อยู่ที่ 183,037 ล้านบาทลดลง 1,567 ล้านบาทหรือติดลบ 0.85%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายใต้สมมติฐานที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาทยอยฟื้นตัวได้จากช่วงก่อนหน้า อาจจะช่วยหนุนสินเชื่อเติบโต 2.5-3.5% โดยปีนี้น่าจะเห็นสินเชื่อธุรกิจมีความต้องการกลับมาดีขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นภาพการเบิกใช้เงินทุนหมุนเวียนในไตรมาสแรกแล้ว แต่กลุ่มสินเชื่อรายย่อยยังไม่กลับมาเร็วเช่น สินเชื่อเช่าซื้อ หรือวงเงินต่อสัญญาสูง

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เนื่องจากปีนี้สถาบันการเงินต้องดูความสามารถในการชำระคืนหนี้และวงเงินคงเหลือจากการชำระคืนหนี้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ดังนั้น ไตรมาสแรกสินเชื่อธุรกิจเริ่มกลับมาเบิกใช้เงินทุนหมุนเวียน ส่วนแนวโน้มความต้องการสินเชื่อรายย่อยน่า จะทยอยกลับมาหลังจากเห็นสัญญาณเศรษฐกิจไทยฟื้นชัดขึ้น

ส่วนทิศทางรายได้ดอกเบี้ยจะได้รับการประคอง แต่อานิสงส์จากดอกเบี้ยปีก่อน จะมีน้อยลงในปีนี้ เพราะดอกเบี้ยไม่ขยับ บวกกับต้นทุนเงินฝากประจำที่เพิ่มสูงขึ้น และจะกดดดันส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมแนวโน้มจะกลับมาเพิ่มขึ้น หากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ เช่น รายได้ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมบริการชำระเงิน รวมถึงแบงก์แอสชัวรันส์ กองทุน เหล่านี้ยังมีสัญญาฯที่ดี ส่วนแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมบริหารความมั่งคั่ง ต้องรอจังหวะฟื้นตัว เพราะตลาดเงินตลาดทุนยังไม่เอื้อ

“ประเด็นที่ห่วงคือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ในสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อย ซึ่งรายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่จึงเป็นความกังวลเรื่องคุณภาพหนี้ ซึ่งแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้น มีโอกาสจะเห็นสัดส่วนเอ็นพีแอลสิ้นปีนี้สูงกว่าระดับปี2566 ที่ 2.66% สำหรับเงินฝากทั้งปี2567 น่าจะขยายตัวได้ 2.8-3.6%” นางสาวกาญจนา กล่าว

ส่วนกรณีที่สมาคมธนาคารไทยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% สำหรับกลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SME เป็นเวลา 6 เดือนนั้นนางสาวกาญจนากล่าวว่า ส่วนตัว ยังไม่แน่ใจผลกระทบ แต่อย่างน้อยการลดดอกเบี้ยสำหรับกลุ่มเปราะบางเป็นการช่วยลดภาระ น่าจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ ขณะที่เอสเอ็มอี นิยามแต่ละสถาบันการเงินน่าจะต่างกัน ส่วนตัวมองว่า ภาพรวมผลกระทบคือ ดีสำหรับลูกหนี้ที่จะได้รับประโยชน์ ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินจะทยอยออกแคมเปญออกมา

อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นปีของการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (RL) ซึ่งสถาบันการเงินอยู่ในช่วงการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้าง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทาง RL อยู่แล้ว โดยทุกธนาคารเปิดช่องปรับโครงสร้างหนี้ทุกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ พร้อมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ Revolving P-Loan ผ่านโครงการแก้หนี้เรื้อรัง โดยเริ่มทำไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

 “โครงการแก้หนี้เรื้อรังเป็นแนวทางช่วยลูกหนี้ปิดจบหนี้ทั้งก้อน รวมทั้งมีการลดอัตราดอกเบี้ยให้ด้วย ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยMRR จึงเป็นส่วนเพิ่มเติมในการช่วยเหลือลูกหนี้ใน 6 เดือนอีก"

ทั้งนี้ ภาพรวมยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีไตรมาส 4 ปี2566 อยู่ที่ 3.09 ล้านล้านบาทลดลงจาก 3.28 ล้านล้านบาทในช่วงเดียวกันปี 2565 มีเอ็นพีแอล 2.35 แสนล้าน คิดเป็น 7.2%ของสินเชื่อเอสเอ็มอีโดยรวม, สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Stage2) 3.80 แสนล้านบาท คิดเป็น 11.7% ของสินเชื่อเอสเอ็มอีโดยรวม

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่กล่าวว่า การประกาศลดดอกเบี้ยภาพใหญ่ MRR สำหรับกลุ่มเปราะบางทั้งลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีนั้น กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่จะได้รับอานิสงส์คือ สินเชื่อบ้าน บ้านแลกเงิน (โฮมฟอร์แคช) โดยสินเชื่อประเภทอื่นอาจจะอิงกับอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตคิดดอกเบี้ยในอัตรา 16% ต่อปี เนื่องจากไม่ใช่ทุกประเภทสินเชื่อรายย่อยที่จะอิงกับอัตราดอกเบี้ย MRR

“ตอนนี้ในเชิงนิยาม กลุ่มเปราะบางยังเป็นภาพกว้าง อาจจะนิยามระดับรายได้ เช่น รายได้ไม่เกินเกณฑ์เท่านี้จะเข้าข่ายได้อานิสงส์ดอกเบี้ยลด 0.25% หรือกรณีรายได้ไม่เกินแต่สัญญาวงเงินสินเชื่อถ้าเกิน 10 ล้านบาทก็จะไม่เข้าข่าย เพราะไม่ใช่ทุกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่จะอิงกับดอกเบี้ย MRR เข้าใจว่า แต่ละแบงก์ต้องทำแคมเปญของตัวเอง”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,989 วันที่ 5 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567