"นำพล มลิชัย" ชูยอดขาย SCGD ปี 67 แตะ 3 หมื่นล้าน เดินหน้าลดต้นทุน-ปั้มมาร์จิ้น

08 มี.ค. 2567 | 03:17 น.

SCGD วางเป้ายอดขาย/รายได้ปี 67 ยืนเหนือระดับ 3 หมื่นล้าน เดินหน้าลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง หนุนมาร์จิ้นขยายตัวได้ 4-5% จากปีก่อน มองอุตสาหกรรมปีนี้สดใส ประเทศไทยและกลุ่มตลาดหลักในอาเซียฟื้นตัวดี แย้มมองโอกาสลงทุน M&A-JV ใหม่ๆ ต่อเนื่อง

นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยว่า จากการเริ่มกลับมาฟื้นตัวของเศษรฐกิจทั้งในประเทศไทย และกลุ่มประเทศที่บริษัทได้เข้าไปขยายตลาด เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทำให้คาดว่ายอดขายและรายได้รวมทั้งปี 2567 จะสามารถกลับมาขยายตัวแตะที่ระดับเหนือ 30,000 ล้านบาทได้อีกครั้ง หากไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจรุนแรงอีก จากปี 2566 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 28,940.73 ล้านบาท

อีกทั้งจากการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยที่ผ่านมาได้มีการลงทุนใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการปรับปรุงเตา ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนตต่อปีไปได้ถึงกว่า 35 ล้านบาท, โครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าไปได้ถึงปีละ 50 ล้านบาท และโครงการ Hot Ait Generator หรือการเอาแกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการหลอมผลิตภัณฑ์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงลงได้ถึงปีละกว่า 50 ล้านบาท สะท้อนต่อแนวโน้มการทำกำไรที่สูงขึ้นในปีนี้ โดยคาดว่ากำไรสุทธิอาจขยายได้ถึง 4-5% จากปีก่อน

โดยภาพรวมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในประเทศไทย มองว่านับตั้งแต่ไตรมาส 3/2566 เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ และต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 1/2567 จากการที่ภาครัฐเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อ รวมถึงการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมยอดขายกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ตลอดทั้งปี 2567 บริษัทยังมอง GDP ไทยเป็นบวก และเชื่อว่าทั้งไทยและกลุ่มประเทศเป้าหมายของบริษัทในปีนี้จะเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้ดีกว่าปีก่อน

ส่วนในประเทศเวียดนาม ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีในอนาคต โดยคาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลดีต่อธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิวและความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้น บริษัทเดินหน้าโครงการการลงทุนปรับปรุงเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่โรงงาน Prime Dai Loc ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานในเครือ Prime Group ตั้งอยู่ที่จังหวัดกว๋างนาม ใกล้กับเมืองดานัง ภาคกลางของประเทศเวียดนาม

เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าใหม่ในกลุ่ม “กระเบื้องเซมิพอร์ซเลน” ที่กำลังได้รับความนิยม เพื่อรักษาศักยภาพความเป็นผู้นำอันดับ 1 ธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิวในเวียดนาม รวมถึงการขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ คาดว่าจะใช้งบลงทุนรวม 60,067 ล้านเวียดนามดอง หรือประมาณ 89.2 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2567

ด้านประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันได้ผ่านการเลือกตั้งแล้ว ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนค่าพลังงานปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม และถูกกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน  ซึ่งเป็นผลบวกกับธุรกิจ เช่นเดียวกันกับประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น กลังจากที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องของเงินเฟ้อสูง แต่ปัจจุบันกลับมาอยู่ในระดับที่ดีขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทได้มีการวางกลยุทธ์หลักเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ ได้แก่

  1. ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน โดยใช้ฐานการผลิตที่แข็งแกร่งในไทย การจัดหาสินค้าจากจีนและเวียดนาม การยอมรับในแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงการขยายร้านค้าและช่องทางออนไลน์ของบริษัทฯ รวมถึงเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายในเวียดนาม
  2. ต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวในไทยสู่อาเซียน โดยมุ่งเพิ่มยอดขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ศึกษาแผนลงทุนโรงงานกระเบื้องในภาคใต้ของเวียดนาม ขยายตลาดผ่านเครือข่ายช่องทางการขายของเอสซีจี ขยายตลาดกระเบื้องไวนิล SPC ในอาเซียน และเดินหน้าโครงการลงทุนเพื่อขยายและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
  3. ขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการให้บริการแบบครบวงจรในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ ผ่านการเพิ่มพอร์ตโฟลิโอสินค้าและความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพในอาเซียน
  4. บริหารห่วงโซ่อุปทานด้านการผลิตและจัดหาสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อบริหารจัดการต้นทุน การจัดหาสินค้า และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสู่ Smart & Green Factory เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร
  5. เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะเพิ่มสัดส่วนสินค้า SCG Green Choice เป็น 80% ของยอดขายปี 2573 และมุ่งสู่ Net Zero Carbon ในปี 2593

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมีความสนใจและเปิดโอกาสกว้างในการศึกษาการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจหลัก และสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต โดยมีความเป็นไปได้ทั้งในรูปแบบของการควบรวมกิจการ (M&A) และการร่วมทุน (JV) ที่ผ่านมามีการศึกษาอยู่ในมือแล้วบ้าง แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะได้ข้อสรุป และต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสภานการณ์และสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ ร่วมด้วย

 

*จาก COTTO มาเป็น SCGD

อนึ่ง SCGD มีมูลค่าหลักทรัพย์ (Market cap) ณ ราคา IPO ที่ 18,975 ล้านบาท ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน COTTO ที่ได้รับการเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ โดย SCGD มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วหลังเสนอขายหุ้น 16,500 ล้านบาท มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท

โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปและทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นของ บมจ. เอสซีจี เซรามิกส์ (COTTO) ด้วยวิธีแลกหุ้น IPO ของ SCGD ตามแผนการปรับโครงสร้าง โดยเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวนรวม 439.1 ล้านหุ้น และมีกำหนดจองซื้อไปแล้วในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน  ถึง 13 ธันวาคม 2566

ในราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้นละ 11.50 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 5,049.65 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 18,975 ล้านบาท โดยหลัง IPO แล้ว จะมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 73.4% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว

SCGD เป็น flagship company ของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ประกอบธุรกิจด้วยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ดำเนินธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย และธุรกิจผลิตสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ภายในห้องน้ำในประเทศไทย ภายใต้ตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิ COTTO SOSUCO CAMPANA PRIME MARIWASA และ KIA

มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาคอาเซียน ผ่านเครือข่ายร้านค้าตัวแทนจำหน่ายต่างๆ ช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และจัดจำหน่ายผ่านเครือข่ายร้านค้าของบริษัท และส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินธุรกิจการให้บริการนิคมอุตสาหกรรมในอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี