SABUY แจงยิบขายเงินลงทุน 12% ใน TKC ฉุดส่วนผู้ถือหุ้นลด บันทึกขาดทุน

08 พ.ค. 2567 | 02:12 น.

บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) แก้ไขงบปี 2566 แจงการจำหน่ายเงินลงทุน บมจ.เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส (TKC) ส่งผลให้บริษัทบันทึกบัญชีขาดทุนเบ็ดเสร็จ ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง 350 ล้านบาท และวัดมูลค่าเงินลงทุนที่เหลือ ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง 120 ล้านบาท

นายวิรัช มรกตกาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY แจ้งผ่านตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทย (เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 ) ชี้แจงผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566  โดยแก้ไขงบการเงินปี 2566  ในสาระสำคัญประเด็นการรับรู้ผลขาดทุน 640 ล้านบาท จากการขายเงินลงทุน บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC

โดยบริษัทรายงานผลการขาดทุนในไตรมาส 4 ที่ 574 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดผลการขาดทุนในปี 2566 ที่ 190 ล้านบาท โดยเหตุผลดังนี้

 

• จากสภาวะสภาพคล่องตึงตัวอย่างรุนแรงอันมีผลต่อการดำเนินการของบริษัท ประกอบกับเหตุการณ์ขาดสภาพคล่องของบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทในตลท. ส่งผลให้สถานการณ์ตลาดเงินและตลาดหุ้นกู้ที่ บจ.หลายบริษัทไม่ชำระ หรือเลื่อนการชำระออกไป ประกอบกับธนาคารพาณิชย์คุมเข้มเรื่องการปล่อยสินเชื่อและคอยดูว่าบจ.ต่างๆ สามารถคืนหุ้นกู้ได้หรือไม่

SABUY จึงเลือกขายเงินลงทุนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (non-core) ตลอดจนธุรกิจที่อาจต้องใช้เวลาในการสร้างมูลค่า และได้ขายเงินลงทุน 12% ใน TKC ในไตรมาส 4/2566 และ 4% ที่เหลือในไตรมาส 1/2567 โดยมุ่งเน้นการรักษาสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งการจำหน่ายเงินลงทุนใน TKC ในไตรมาส 4/2566 ตามที่กล่าว บริษัทบันทึกบัญชีในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจำนวน 350 ล้านบาท และการวัดมูลค่าเงินลงทุนส่วนที่เหลือตามราคาตลาดมีผลขาดทุนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจำนวน 120 ล้านบาท

• ในบริษัท SBNEXT ตลอดจนบริษัทในกลุ่ม เช่น Alpine, Safe Trade และ เธียรสุรัตน์ลิสซิ่ง (TSRL) กลุ่มบริษัทตัดสินใจเพิ่มความระมัดระวังแบบ conservative ในการให้สินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ส่งผลให้เกิดการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญในปี 2566 ในปริมาณถึง 140 ล้านบาท อีกทั้งเป็นการตั้งสำรองที่อาจเกิดผลกระทบในปี 2567

• จากการปรับโครงสร้างองค์กร ลดความซ้ำซ้อน กลุ่มบริษัทจึงเกิดค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้าง โดยมีการลดพนักงานไปได้แล้วประมาณ 12% จากเป้าที่ตั้งไว้ที่ 35% โดยตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายพนักงานลงไปได้ประมาณ 200-250 ล้านบาท ในปี 2567 เช่น ค่าบุคลากร อาคารสถานที่ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 35 ล้านบาท

 

• SBNEXT มีการเปลี่ยนวิธีบันทึกมูลค่าที่ดินจากราคาทุนเป็นมูลค่าที่ตีใหม่ในไตรมาส 3/2566 ส่งผลให้มีการรับรู้การขาดทุนจากการตีมูลค่าที่ดินในไตรมาส 4/2566 จำนวน 43 ล้านบาท ทั้งนี้ SBNEXT อยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ของที่ดิน (คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2567) SBNEXT สามารถกลับรายการขาดทุนดังกล่าว และรับรู้เป็นกำไรได้ในปี 2567

• เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน กลุ่มบริษัทได้ลงทุนในการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาและเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร การลงทุนดังกล่าวสามารถทำให้กลุ่มบริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการพัฒนาระบบ IT โดยมูลค่าการลงทุนอยู่ประมาณ 150-200 ล้านบาท และทยอยรับรู้ตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 เป็นต้นไป

อนึ่ง ในรายงานงบการเงินปี 2566 ฉบับเก่า ที่ SABUY ได้แจ้งผ่านตลท.เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 ลงนามโดย นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ในขณะนั้น ) ได้ระบุในส่วนความข้างต้นนี้หัวข้อย่อยแรกต่างออกไปว่า 

• จากสภาวะสภาพคล่องตึงตัวอย่างรุนแรงอันมีผลต่อการดำเนินการของบริษัท ประกอบกับเหตุการณ์ขาดสภาพคล่องของบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทใน ตลท. ส่งผลให้สถานการณ์ตลาดเงินและตลาดหุ้นกู้ที่ บจ. หลายบริษัทไม่ชำระ หรือเลื่อนการชำระออกไป ประกอบกับธนาคารพาณิชย์คุมเข้มเรื่องการปล่อยสินเชื่อ และคอยดูว่า บจ.ต่างๆ สามารถคืนหุ้นกู้ได้หรือไม่ SABUY จึงเลือกขายเงินลงทุนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (non-core) ตลอดจนธุรกิจที่อาจต้องใช้เวลาในการสร้างมูลค่า และได้ขายเงินลงทุน 12% ใน TKC ในไตรมาส 4/2566 และ 4% ที่เหลือในไตรมาส 1/2567 โดยมุ่งเน้นการรักษาสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้บริษัทต้องรับรู้การขาดทุนจากการลงทุนดังกล่าวเป็นจำนวนประมาณ 640 ล้านบาทและมีการบันทึกไว้ในไตรมาส 4/2566 แล้ว

สำหรับความคืบหน้า การเข้ามาบริหารในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ใน SABUY ของ กลุ่ม Lightnet สัดส่วน 40.38% ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี 2567 หลังจากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญครั้งที่ 1/2567  ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย.2567  นั้น

นายตฤบดี อรุณานนท์ชัย Vice Chairman, Lightnet Group Pte. Ltd. เปิดเผยถึงแผนการเข้ามาลงทุนใน SABUY ว่า SABUY มี ecosystem ที่มีศักยภาพทั้งด้านช่องทาง ฐานลูกค้า อุปกรณ์ และเทคโนโลยี ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับธุรกิจหลักของกลุ่ม Lightnet ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการโอนเงินระหว่างประเทศที่มีทั้งระบบการเงิน ระบบปฏิบัติการเทคโนโลยี Blockchain และใบอนุญาตในหลากหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนั้น SABUY เองยังเป็นผู้ถือหุ้นในอีกหลายบริษัทที่มีธุรกิจอยู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งสามารถสร้าง synergies ทั้งด้าน products และ customer base กับทางกลุ่ม Lightnet

นายวิรัช มรกตกาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SABUY กล่าวว่า ความมุ่งมั่นในการสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้กับ SABUY นั้น ทางกลุ่ม Lightnet ได้มีการเริ่มทำงานร่วมกับ SABUY ในการกำหนดกลยุทธ์ในหลายด้าน อาทิเช่น การใช้เครือข่ายสาขาร้านรับส่งพัสดุของ SABUY Speed ที่มีมากกว่า 24,000 แห่งทั่วประเทศ ในการช่วยรองรับธุรกรรมที่ทางกลุ่ม Lightnet จะนำเข้ามาเพิ่มรายได้ให้กับสาขา การร่วมพัฒนาต่อยอดระบบการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า หรือ ระบบ CRM เพื่อสามารถเพิ่มศักยภาพการใช้แต้มหรือคะแนนสะสมของลูกค้า การให้การสนับสนุนต่อบริษัท แอสเฟียร์ อินโนเวชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (“AS”) ที่ SABUY เข้าไปลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการขยายธุรกิจนอกเหนือจากเกมออนไลน์  การขยายฐานลูกค้าและธุรกรรมให้กับระบบ e-wallet  อย่าง  SABUY Money

“ภายหลังจากการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กลุ่ม Lightnet เองยังมีแผนที่จะช่วย SABUY พัฒนาเรื่องระบบจัดการข้อมูล หรือ Data ซึ่งมีจำนวนมากเพื่อให้สามารถนำมาสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าของ SABUY และ กลุ่ม Lightnet อีกด้วย”