CKPower ควัก 691 ล้านบาทจ่ายปันผลหุ้นละ 0.085 บาท

10 พ.ค. 2567 | 11:53 น.

CKPower เผยไตรมาสแรก ขาดทุน 461 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 357 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน ยันลดลงตามฤดูกาล ผลจากหน้าแล้ง น้ำเข้าเขื่อนน้อย บอร์ดไฟเขียวจ่ายปันผล 691 ล้านบาท หุ้นละ 0.085 บาท ดีเดย์ 23 พ.ค.67

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยไตรมาส 1/2567 ว่า  บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,491 ล้านบาท ลดลง 195 ล้านบาท หรือลดลง 7.3% สาเหตุหลักมาจากรายได้ขายไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (BIC) ที่ลดลง จากราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยและค่า Ft ขายปลีกต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 (NN2) ที่มีปริมาณน้ำคงเหลือในอ่างเก็บน้ำและปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้มีกำไรขั้นต้น 560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  

แต่จากการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) 570 ล้านบาท ทำให้ไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทฯมีผลขาดทุนสุทธิ 461 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 357 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 104 ล้านบาท จากปริมาณน้ำเฉลี่ยที่ไหลผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี XPCL ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณการขายไฟฟ้าของ XPCL ลดลง

ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางการเงินของ XPCL ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลก และการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากการแปลงค่าหนี้สินที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐตามสัดส่วนการถือหุ้น ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

CKPower ควัก 691 ล้านบาทจ่ายปันผลหุ้นละ 0.085 บาท

 

นอกจากนี้ บริษัทมีการรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่กระทบกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท 219 ล้านบาท จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสแรกปีนี้  ส่วนใหญ่มาจากการที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง เริ่มเบิกเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566

แต่หากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสดและไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดรับของบริษัทดังกล่าว บริษัทจะรับรู้ขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงาน (Core Net Profit) 242 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเพิ่มขึ้น 163 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

“ผลการดำเนินงานที่ขาดทุนในไตรมาสแรกนี้ เป็นไปตามแนวโน้มสถานการณ์ปริมาณน้ำตามฤดูกาล ซึ่งโดยปกติไตรมาสแรกของปีจะเป็นไตรมาสที่มีปริมาณน้ำต่ำที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงฤดูแล้ง แต่ปริมาณน้ำที่ค่อนข้างดีในช่วงไตรมาสแรกของ NN2 ประกอบกับปัจจัยปริมาณฝนตามฤดูกาล จะช่วยสร้างผลบวกต่อผลการดำเนินงานในไตรมาสต่อๆไปของปี” นายธนวัฒน์กล่าว

ขณะเดียวกันบริษัทเชื่อมั่นว่า การลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมากในช่วงก่อสร้าง แต่เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ และช่วยสร้างกระแสเงินสดและผลตอบแทนที่มั่นคงและยั่งยืนในระยะยาวแก่บริษัท

อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ ฐานะทางการเงินของ CKPower ยังคงแข็งแกร่ง มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมเพียง 0.55 เท่า และเงินสดคงเหลือรวมกว่า 5.5 พันล้านบาท

ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา CKPower ได้ออกหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผุ้ถือหุ้นกู้จำนวน 4,000 ล้านบาท อายุ 2-5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.1 %ต่อปี เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน  ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการสภาพคล่อง รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อการลงทุนโครงการต่างๆ ของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 25 เมษายน มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.085 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น  691 ล้านบาท โดยจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามที่ปรากฏชื่อ ณ วันกำหนดสิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้

สำหรับก้าวต่อไป CKPower ได้วางเป้าหมายการเติบโตในด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและรากฐานความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในกลุ่ม CKPower สามารถผลิตไฟฟ้าสะอาดส่งให้ประเทศไทยได้กว่า 8.5 ล้านเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) หรือคิดเป็น 17% ของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในประเทศ

"ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่สามารถหวังผลในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2593” นายธนวัฒน์ กล่าว