‘ท๊อป จิรายุส’ถอดรหัส เทรนด์โลกเวที WEF มุ่งเทคโนโลยี-กรีน

31 ม.ค. 2567 | 07:34 น.

“ท๊อป จิรายุส” ถอดแนวคิดผู้นำโลกจากเวที World Economic Forum มองเศรษฐกิจโลกปี 67 เข้าสู่จุดสมดุล เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยลด ทั่วโลกตื่นฟื้นความเชื่อใจ-ลดขัดแย้ง พร้อมชี้เงินทุนสถาบันไหลเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว ขณะที่ AI เครื่องยนต์เร่งโต ปลดล็อคเศรษฐกิจโลก

KEY

POINTS

  • เศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ปีที่ผ่านมาประชาธิปไตยแย่สุด ความเชื่อใจกันลดลง GDP ต่ำสุด การบริโภคลดลง การออมต่ำสุด และ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกับ GDP ก็มากสุด
  • AI ปีที่แล้วเป็นปีแห่งการทดลองเล่น ปีนี้ AI จะถูกนำมาประยุกต์ใช้งานจริง เพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไรจริง และกระทบกับอาชีพ เกิดอาชีพใหม่ขึ้นมา
  • องค์กรไหนที่ไม่พูดถึงเรื่อง เทคโนโลยี และกรีน อีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่มีพื้นที่ยืนอยู่บนโลกใบนี้

 ปิดฉากลงไปแล้วกับการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2567 ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยธีมงานในปีนี้คือเรื่อง Rebuilding Trust ซึ่งครอบคลุมในหลายๆ มิติ ทั้ง AI, สงคราม, เศรษฐกิจ, เทคโนโลยี, สภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน ยังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาถกกันอย่างกว้างขวาง

“ฐานเศรษฐกิจ” และสื่อเครือเนชั่น ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด หรือ “Bitkub” หนึ่งในนักธุรกิจไทยที่เข้าร่วมเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกครั้งนี้ ถึงสาระสำคัญที่ผู้นำระดับโลกพูดคุยกันในปีนี้ รวมถึงโอกาสของประเทศไทยต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

โดยนายจิรายุส กล่าวว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปีที่ผ่านมา โดยปีที่ผ่านมาประชาธิปไตยแย่สุด ความเชื่อใจกันลดลง ทั้งความเชื่อใจในระดับองค์กร หรือในระดับประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านกันความไว้เนื้อเชื่อใจลดลง ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ต่ำสุด การบริโภคลดลง การออมทั่วโลกต่ำสุด และ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกับ GDP ก็มากสุด

‘ท๊อป จิรายุส’ถอดรหัส เทรนด์โลกเวที WEF มุ่งเทคโนโลยี-กรีน

แต่ปีนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับเข้าสู่จุดสมดุล สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกลดลง ดอกเบี้ยลดลง ไม่เหมือนปี 2565-2566 ที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ปีนี้จะเห็นเฟด และหลายประเทศทั่วโลก ทยอยประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

รูปแบบการค้าทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ทำให้คู่ค้าเปลี่ยนแปลงไป ธีมงานประชุม WEF ปีนี้คือเรื่อง Rebuilding Trust เอาความเชื่อใจกลับคืนมา โลกมันเชื่อมกันต้องพึ่งพาอาศัยกันมากกว่าที่คิด แม้แต่จีนหรืออเมริกา ที่ทะเลาะกัน สุดท้ายจะอยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อาจจะเกิดการแข่งขันด้านเซมิคอนดักเตอร์ แต่ด้านอื่นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างจีน สหรัฐ สร้างให้เกิดผลกระทบ ประกอบกับเกิดโควิด ทำให้รู้ว่าซัพพลายเชน ไม่ควรรวมศูนย์อยู่ที่เดียว หลังโควิดเกิดการกระจายซัพพลายเชนมายังอาเซียน ซึ่งจีนมองอาเซียนเป็นเครื่องยนต์การเติบโตใหม่ของโลก

ทั้งนี้นางสาววิโอลา อัมแฮร์ท (Viola Amherd) ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการนำเสนอแนวคิด 3-4 ขั้นตอนในการสร้างความเชื่อใจกลับคืนมา สเตปแรกคือต้องมีเวทีการพูดคุยกันระหว่างประเทศทั่วโลกมากขึ้น ถ้าไม่มีการพูดคุยกัน ก็เข้าใจผิดกัน สเตป 2 ต้องมียูเอ็น เป็นสะพานเชื่อมต่อการพูดคุยกัน สร้างเวทีกลางให้แต่ละประเทศมาพูดคุยกัน สเตป 3 ต้องมีข้อตกลงความร่วมมือ มีการยอมถอยกันคนละก้าวเพื่อลดความขัดแย้ง และ สเตป 4 กฎบัตรระหว่างประเทศจะต้องศักดิ์สิทธิ์

โดยปี 2567 นอกจากเศรษฐกิจโลกจะกลับมา เงินเฟ้อลดลง มีเม็ดเงินการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา รูปแบบการค้าใหม่ อาเซียนก็เข้าสู่ยุคทองคำ ที่รูปแบบการค้าจะเอื้อต่ออาเซียนมากขึ้น อย่างแรกนอกจาก การปรับเปลี่ยนด้านพลังงาน จะมากระทบการซื้อขาย การนำเข้า-ส่งออก หรือ กฎเรื่อง กรีน เทรดดิ้งพาร์ทเนอร์ของแต่ละประเทศที่ลดความเสี่ยงไม่พึงพาประเทศใดประเทศนึง ทำให้เกิดรูปแบบการค้าใหม่ โดยในปี 2567 จะเห็นได้ชัดเจนอัตราส่วนการซื้อขายต่อ GDP นั้นสิ่งที่เติบโตรวดเร็วมาก คือ การค้าดิจิทัล หรือ ดิจิทัลเทรด เช่นเดียวกับเซอร์วิสเทรด และ ดิจิทัล เซอร์วิส เทรด ที่เติบโตรวดเร็วมาก แต่สิ่งที่เติบโตมากสุด คือ กรีน เทรด ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ที่มีตัวเลขการเติบโต 300% หรือโต 3 เท่าตัว

เรื่องกรีนทรานซิชัน นั้นทั่วโลกต้องใช้เม็ดเงิน 5 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 5% ของ GDP ทุกปีถึงปี 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งลำพังเงินสนับสนุนจากการบริจาคอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นต้องดึงเม็ดเงินลงทุนจากสถาบันเข้ามา ซึ่งการลงทุนของสถาบันนั้นมองการลงทุนในธุรกิจที่มีกำไร โดยปีนี้เราจะเห็นธุรกิจ เริ่มทำกำไรเพื่อดึงเม็ดเงินการลงทุนสถาบันเข้ามา ขณะที่ธุรกิจดั่งเดิม ทีมีซัพพลายเชนแบบเก่า เน้นการปริมาณการผลิตมากกว่าคุณภาพ นั้นจะถูกบีบแบงก์ไม่ปล่อยกู้ เข้าตลาดไม่ได้ มีความสามารถทำกำไรลดลง เม็ดเงินลงทุนธุรกิจดั่งเดิมก็จะลดลง

อีกหนึ่งธีมสำคัญในการประชุมดังกล่าวคือ AI ที่มองว่าปีที่แล้วเป็นปีแห่งการทดลองเล่น ปีนี้ AI จะถูกนำมาประยุกต์ใช้งานจริง เพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไรจริง และกระทบกับอาชีพ ที่จะกระทบและเปลี่ยนไปหมด งานบางส่วนจะเป็นออโตเมชัน  โดยใช้ AI   หรืออาจร่วมกับงานที่ออโตเมชันไม่ได้ ทำให้เกิดอาชีพใหม่ขึ้นมา หรือการนำ AI มาใช้ยกระดับความสามารถของผู้ใช้แรงงาน โดยใช้ AI อีก 5 ปีข้างหน้า 44 %ของความสามารถที่มีอยู่ในปัจจุบันจะใช้ไม่ได้ ต้องมีการอัพสกิลทั้งหมดทั่วโลก เพื่อให้มีสกิลเซ็ต ของอาชีพในโลกใหม่

ส่วนการพัฒนา AI มีการพูดถึงการทำให้ AI คิดนานขึ้น การใส่ข้อมูลเข้าไป AI น้อยลงให้ AI คิดเองมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการละเมิดข้อมูล และเรื่องการทำให้เจ้าของข้อมูลได้เงินจริงจากข้อมูล ซึ่งขณะนี้ Open AI กำลังคิดโมเดลอยู่ นอกจากนี้ยังพูดถึงการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนา AI ที่ไม่ควรหยุดพัฒนา ขณะเดียวกันพูดถึงเรื่องการป้องกัน ทำอย่างไรให้ AI มีศีลธรรม และจริยธรรม มากขึ้น

โดยนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอ ไมโครซอฟท์ ระบุว่าปีที่แล้วโลกของเราไม่ได้เติบโตขึ้น โดยหยุดอยู่กับที่หรือติดลบด้วย ไม่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตใหม่เกิดขึ้น นอกจากอินเดียที่เติบโตเร็วมาก ซึ่งโลกจำเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ที่เข้ามาปลดล็อค ซึ่ง AI เป็นเทคโนโลยีที่ดีสุด ที่ไม่มีมานานแล้วหลังจากการมีอินเตอร์เน็ต โดย AI จะเข้ามาปลดล็อคการเติบโตของประสิทธิภาพ

นายจิรายุส กล่าวปิดท้ายว่า “ข้อความสำคัญที่มีการสื่อออกมาผ่านเวทีดังกล่าว และกระตุกความรู้สึก คือ องค์กรไหนที่ไม่พูดถึงเรื่อง เทคโนโลยี และกรีน อีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่มีพื้นที่ยืนอยู่บนโลกใบนี้