1 ก.ค. วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ ประวัติลูกเสือไทย 112 ปี

01 ก.ค. 2566 | 10:37 น.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จึงได้ยึดถือวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ

1 ก.ค. 2566 เป็นวันคล้าย วันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ครบรอบ 112 ปี ซึ่งเมื่อถึงวันนี้ในแต่ละปีจะมีลูกเสือทั้งในส่วนกลางและปริมณฑลนับหมื่นคน มาร่วมเดินสวนสนาม เพื่อแสดงความเคารพและกล่าวทบทวนคำปฏิญาณ ต่อองค์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ เพื่อประกาศความเป็นลูกเสืออย่างแท้จริง

ในปีนี้ (2566) พิธีสวนสนามจัดขึ้นที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชบิดาแห่งการลูกเสือไทย

ย้อนกลับไปมองเส้นทาง การก่อกำเนิดลูกเสือไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อพระชนมายุ 13 พรรษา ซึ่งระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงรับทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของลอร์ด เบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) ซึ่งได้ตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในการรบกับพวกบัวร์ (Boar) จนประสบผลสำเร็จ และได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 ด้วยจุดประสงค์เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทหาร หลายประเทศที่ไม่มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร จึงได้จัดให้มีลูกเสืออย่างประเทศอังกฤษบ้าง หลังจากนั้นไม่นานกิจการลูกเสือก็ได้แพร่หลายเข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

ความหมายของ "Scout"

หนึ่งปีถัดมา (พ.ศ.2451) ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ ได้แต่งหนังสือคู่มือการฝึกอบรมลูกเสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า Scouting For Boys ซึ่งคำว่า “Scout” นั้น ได้ถูกนำมาใช้เป็นคำเรียกผู้ที่เป็นลูกเสือ ซึ่งมีความหมายมาจาก

S ย่อมาจาก Sincerity แปลว่า ความจริงใจ

C ย่อมาจาก Courtesy แปลว่า ความสุภาพอ่อนโยน

O ย่อมาจาก Obedience แปลว่า การเชื่อฟัง

U ย่อมาจาก Unity แปลว่า ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

T ย่อมาจาก Thrifty แปลว่า ความประหยัด ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

กิจการลูกเสือได้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว โดยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นประเทศที่สอง รองจากอังกฤษ

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย จึงได้ทรงจัดตั้ง กองอาสาสมัครเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง รู้จักระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทรงฝึกอบรมสั่งสอนเสือป่าด้วยพระองค์เอง (สถานที่ฝึกหัดอบรมเสือป่า คือ สโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต และพระลานพระราชวังดุสิต จึงเรียกกันว่าสนามเสือป่า มาจนถึงทุกวันนี้ )

ทรงฝึกอบรมสั่งสอนเสือป่าด้วยพระองค์เอง สถานที่ฝึกหัดอบรมเสือป่า คือ สโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต

การฝึกหัดเสือป่า คือ การฝึกอบรมจิตใจ ในเรื่องการรักชาติบ้านเมือง ฝึกอบรมทางกาย คือ การฝึกอบรมการใช้อาวุธ และการฝึกหัดท่าทหาร โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ไม่มีกำลังทหารเพียงพอแก่การรักษาประเทศ จึงได้ทรงฝึกให้ราษฎร ใช้อาวุธปืน เพื่อสามารถช่วยทหารได้ในเวลาคับขัน ทรงนำกองอาสาสมัครเสือป่าซ้อมรบยุทธวิธีด้วยพระองค์เอง

หลังจากนั้น 2 เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิด “ลูกเสือไทย” ขึ้นเมื่อ วันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว ก็เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง

ต่อมาจากนั้น ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ซึ่งก็คือ โรงเรียนวชิราวุธ ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียน ต่าง ๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทานคำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์ ” มีการจัดตั้งสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติ ขึ้น โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก และหลังจากนั้นพระมหากษัตริย์องค์ต่อมาทรงเป็นสภานายกสภาลูกเสือแห่งชาติสืบมา

ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรก คือ นายชัพน์ บุนนาค ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “นายลิขิตสารสนอง”

ในปี พ.ศ. 2463 ได้มีการจัดส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย จำนวน 4 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 (1st World Scout Jamboree) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของโลก ณ อาคารโอลิมเปีย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากนั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2465 คณะลูกเสือไทย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมัชชาลูกเสือโลก ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 31 ประเทศ ประเทศทั้ง 31 ประเทศนี้ นับเป็นสมาชิกรุ่นแรก หรือสมาชิกผู้ก่อการจัดตั้ง (Foundation Members) สมัชชาลูกเสือโลกขึ้นมา

ความเป็นมาลูกเสือไทย อาจแบ่งเป็น 5 ยุค ดังนี้

1. ยุคก่อตั้ง (พ.ศ. 2454 – 2468) รวม 14 ปีอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 6

2. ยุคส่งเสริม (พ.ศ. 2468 – 2482) สมัยรัชกาลที่ 7 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชการที่ 7 ยังทรงเป็นสภานายกสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติอยู่ และภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นสมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนสละราชสมบัติและรัชกาลที่ 8 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. 2475 มีการจัดตั้ง “ลูกเสือสมุทรเสนา” ขึ้นอีกหนึ่งเหล่า ในจังหวัดแถบชายทะเลเพื่อให้เด็กในท้องถิ่นมีความรู้ ความสามารถในวิทยาการทางทะเล

อีก 2 ปีถัดมาในพ.ศ. 2476 มีการจัดตั้งกรมพลศึกษาขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีกองลูกเสืออยู่ในกรมพลศึกษา และส่งผู้แทนไปร่วมชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 4 ณ ประเทศฮังการี โดยมีนายอภัย จุนทวิมล เป็น หัวหน้า

ตราคณะลูกเสือแห่งชาติ

ยุคนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญ คือ มีการจัดทำ ตราคณะลูกเสือแห่งชาติ ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล ที่คณะลูกเสือต่างๆ ทั่วโลก ต่างก็มีตราคณะลูกเสือของตนเองทั้งสิ้น โดยของไทยจัดทำตราเป็นรูป Fleur de lis กับ รูปหน้าเสือประกอบกัน และมีตัวอักษรคำขวัญอยู่ภายใต้ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” และประกาศใช้เป็นตราประจำคณะลูกเสือแห่งชาติ พร้อมกฎลูกเสือ 10 ข้อ

3. ยุคประคับประคอง (พ.ศ. 2483 – 2489) ระยะนี้ลูกเสือซบเซาลงมาก เนื่องจากอยู่ภาวะสงคราม

ในพ.ศ. 2485 มีการออกพระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับปี พ.ศ. 2485) มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงตำแหน่งบรมราชูปถัมภ์คณะลูกเสือแห่งชาติ ต่อมาพ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การลูกเสือเริ่มฟื้นฟูทั่วโลก รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติสู่พระนคร

4. ยุคก้าวหน้า (พ.ศ. 2489 – 2514) เริ่มต้นในรัชกาลที่ 9 แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

4.1 ระยะเริ่มก้าวหน้า (พ.ศ. 2489 – 2503) มีเหตุการณ์สำคัญ คือ

พ.ศ. 2496 เริ่มดำเนินการสร้างค่ายลูกเสือวชิราวุธ ที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

พ.ศ. 2497 มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 3 ณ สนามกีฬาแห่งชาติ

พ.ศ. 2500  ไทยส่งผู้แทนเข้าร่วมชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 9 ณ ประเทศอังกฤษ เพื่อเฉลิมฉลองอายุครบ 100 ปี ของลอร์ด เบเดน โพเอลล์ ผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก

พ.ศ. 2501 เปิดการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสำรอง ขั้นความรู้เบื้องต้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และจากนั้นมีการจัดตั้งกองลูกเสือสำรองกองแรกขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2501

4.2 ระยะก้าวหน้า (2504 – 2514) มีเหตุการณ์สำคัญคือ

พ.ศ. 2504  มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ณ สวนลุมพินี พระนคร เพื่อเฉลิมฉลองที่คณะลูกเสือไทยมีอายุครบ 50 ปี

พ.ศ. 2505 พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี เปิดค่ายลูกเสือวชิราวุธ

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 รัชกาลที่ 9 ทรงประกอบพิธีเปิดศาลาวชิราวุธ 1 ปีถัดมามีการเปิดฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ ขั้นวูดแบดจ์ รุ่นที่ 1 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ และมีการจัดตั้งกองลูกเสือวิสามัญ ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2506

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ในฉลองพระองค์เครื่องแบบลูกเสือ

ในปีเดียวกันนั้น ได้มีการฝึกอบรม “ลูกเสือชาวบ้าน” ขึ้นครั้งแรก ณ อำเภอด่านช้าง จังหวัดเลย โดยกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 ทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ด้วยทรงเล็งเห็นว่าประชาชนชาวบ้านที่ไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน หรือเว้นว่างจากการเรียนควรได้เข้าร่วมกิจกรรมที่แสดงถึงความรัก ความสามัคคี และการอาสา เพราะกิจกรรมลูกเสือเป็นกิจกรรมที่พัฒนาทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจ และสังคมได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ทรงเล็งเห็นว่ากิจกรรมลูกเสือนั้นสามารถพัฒนาคนให้เป็นคนดี มีคุณธรรมเพื่อเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติได้อย่างดียิ่ง พระองค์ทรงให้กำลังใจ และส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือทุกชนิดมาโดยตลอด ทรงเป็นองค์ประธานในงานลูกเสือแห่งชาติ โดยทรงเครื่องแบบลูกเสือชุดฝึก (พระสนับเพลาขาสั้น) พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณกำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคมของทุก ๆ ปีเป็นวันเฉลิมฉลองวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ

ทรงเครื่องแบบลูกเสือชุดฝึก (พระสนับเพลาขาสั้น)

บทบาท “ลูกเสือไทย” ในปัจจุบัน

นิยามของลูกเสือไทย คือ เยาวชนชายและหญิงอายุระหว่าง 8 - 25 ปี ที่รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรวิชาลูกเสือ โดยยึดมั่นในหลักการ (Principle) วิธีการ (Method) และวัตถุประสงค์ (Purpose) ของการลูกเสือ (Scouting) อย่างเคร่งครัดตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 และข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509 ได้กำหนดประเภทและเหล่าลูกเสือว่า ลูกเสือมี 4 ประเภท คือ

  1. ลูกเสือสำรอง (Cub Scout) อายุ 7 – 9 ปี คติพจน์: ทำดีที่สุด (Do your best)
  2. ลูกเสือสามัญ (Scout) อายุ 10 - 12 ปี คติพจน์: จงเตรียมพร้อม (Be prepared)
  3. ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (Senior Scout) อายุ 13 – 15 ปี คติพจน์: มองไกล (Look wide)
  4. ลูกเสือวิสามัญ (Rover) อายุ 16 - 25 ปี คติพจน์: บริการ (Service)

นอกจากนี้ อาจจัดให้มีลูกเสือเหล่าสมุทร และลูกเสือเหล่าอากาศได้ สำหรับลูกเสือที่เป็นหญิง อาจใช้ชื่อเรียกว่า เนตรนารี หรือชื่ออื่นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติให้หมายถึง ลูกเสือที่เป็นหญิงด้วย

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ คนปัจจุบันคือ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 

พระราชบัญญัติลูกเสือเริ่มด้วยองค์ประกอบ คณะลูกเสือแห่งชาติ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสภาลูกเสือไทย นายกรัฐมนตรีเป็นสภานายก รองนายกรัฐมนตรีเป็นอุปนายก คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นเลขานุการ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่งเป็นเลขาธิการ

ส่วนคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สำนักงานลูกเสือจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นหัวหน้า คณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่ สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นประธานและหัวหน้า

วัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ คือ การพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบและช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติเป็นสำคัญ

ที่มา: สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง /วิกิพีเดีย /คลังปัญญาไทย/เว็บไซต์ https://scout.nma6.go.th/