กางโมเดลเมืองนอก “คุมขายน้ำเมา” เตือนรัฐปลดล็อกเวลาขายเสี่ยงขัด รธน.

18 มี.ค. 2567 | 07:36 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2567 | 07:44 น.

นักวิชาการกางโมเดลต่างประเทศ ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวในการ “ควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” พร้อมเตือนรัฐบาลแก้กฎหมาย "น้ำเมา" อ้างกระตุ้นเศรษฐกิจ เสี่ยงละเมิดสิทธิ-ขัดรัฐธรรมนูญ

"นักวิชาการ” ถอดบทเรียนจากต่างประเทศ และมีคำเตือนถึงรัฐบาลกรณีเตรียมแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ เปิดช่องให้ธุรกิจ "น้ำเมา" สามารถโฆษณา สื่อสารการตลาด เพิ่มเวลาขาย และส่งเสริมการขาย โดยอ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ส่อแววผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ละเมิดสิทธิประชาชน เพราะรัฐบาลไม่มีทางควบคุม "คนเมา" ไม่ให้สร้างผลกระทบต่อบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจนำไปสู่การบาดเจ็บ ล้มตาย จากนโยบายที่ให้เสรีภาพในการดื่ม "น้ำเมา" เกินขอบเขต

ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า "การแก้ไขกฎหมายเพื่อลดทอนการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ยังก่อให้เกิดการบาดเจ็บ และโรคไม่ติดต่อหลายชนิด ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงผลิตภาพของแรงงาน และงบประมาณภาครัฐด้านสาธารณสุข ทั้งหมดนี้จะเป็นฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ"

ผลการศึกษาจากหลายแหล่งชี้ชัดว่า

  • ประเทศที่ห้ามโฆษณา "น้ำเมา" มีการละเมิดกฎหมายน้อยกว่า เช่น ประเทศนอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน
  • การให้โฆษณา "น้ำเมา" เพิ่มจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนน จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด
  • การห้ามโฆษณา "น้ำเมา" ทั่วสหภาพยุโรป ป้องกันการเจ็บป่วยจาก "น้ำเมา" ได้ 5% จากรายงานขององค์การอนามัยโลก

นอกจากนี้ผศ.ดร.ชิดตะวัน ยังระบุว่ามีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า การขยายเวลาขาย "น้ำเมา" ย่อมเพิ่มอันตราย

  • การเพิ่มเวลาขาย 1 ชั่วโมง เพิ่มอาชญากรรมและความรุนแรง 16% จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
  • รัฐที่ขาย "น้ำเมา" วันอาทิตย์ อาชญากรรมจาก "น้ำเมา" เพิ่ม กรณีเล็กน้อย 5% รุนแรง 10% จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก

ตัวอย่างประเทศที่ลดเวลาขาย "น้ำเมา"

  • เจนีวา ห้ามขาย "น้ำเมา" ในร้านค้า 21.00 น. - 07.00 น. ลดผู้เข้ารักษาพยาบาลจากอาการมึนเมา 25-40%
  • เยอรมนี ห้ามขาย "น้ำเมา" 22.00 น. - 05.00 น. ลดผู้เข้ารักษาพยาบาลจาก "น้ำเมา" 7%
  • ออสเตรเลีย ลดเวลาขาย "น้ำเมา" ในสถานบันเทิง ลดอันตรายและความรุนแรง

ผศ.ดร.ชิดตะวัน อธิบายต่อว่า "เสรีภาพในการดื่ม "น้ำเมา" ของบุคคล สามารถสร้างผลกระทบหรือละเมิดสิทธิบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง" เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ บาดเจ็บ ทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือถูกทำร้าย ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการบริโภค "น้ำเมา" ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาจำหน่าย อนุญาตให้มีการโฆษณา หรือสามารถทำกิจกรรมส่งเสริมการขายได้

"เพราะนอกจากจะส่งผลเสียทางสังคมและเศรษฐกิจตามผลการศึกษาที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นการออกนโยบายที่เข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 25 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติโดยสรุปว่า บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น"

ดังนั้น การกระตุ้นให้ผู้คนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีเสรีภาพมากขึ้น โดยรัฐไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับสิทธิของบุคคลอื่นซึ่งจะถูกกระทบจากมาตรการฯ ย่อมเป็นการออกนโยบายที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งขัดกับเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ในการคุ้มครองสุขภาพประชาชน ลดผลกระทบทางสังคม และป้องกันนักดื่มหน้าใหม่โดยสิ้นเชิง